การตรวจเพื่อทำนายมะเร็งเต้านมและแนวทางการรักษา : บทเรียนจากซุปตาร์
การตรวจเพื่อทำนายมะเร็งเต้านมและแนวทางการรักษา : บทเรียนจากซุปตาร์
การให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดเนื้อร้ายของเต้านม
อ.พญ. ศิริโสภา เตชะวัฒนวรรณา
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ในการให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดเนื้อร้ายของเต้านมในผู้ที่มีความเสี่ยงระดับยีน (BRCA1 หรือ BRCA2 mutation) ได้มีการศึกษาหลากหลายงานวิจัย พบว่าการได้รับยาทาม๊อกซิเฟน(Tamoxifen) จะสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเต้านมในกลุ่มของประชากรที่เป็น BRCA2 เมื่อเทียบกับยาหลอก แต่ในกลุ่มของBRCA1 การได้ยาทาม๊อกซิเฟนหรือยาหลอกอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเต้านมไม่ได้แตกต่างกัน แต่ยาทาม๊อกซิเฟนเองจะมีผลข้างเคียงของยาทั้งอาการคลื่นไส้, เบื่ออาหาร, น้ำหนักลด, ร้อนวูบวาบ, ประจำเดือนมาผิดปกติ, เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นเนื้อร้ายของมดลูกมากขึ้น, มีโอกาสเป็นลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำมากขึ้น เป็นต้น ดังนั้นในกลุ่ม BRCA2 ถ้าจะใช้ยาทาม๊อกซิเฟนในการป้องกันการเกิดเนื้อร้ายของเต้านมควรที่จะชี้แจงประโยชน์และโทษของการรักษากับผู้ที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคร่วมกันเพื่อร่วมตัดสินใจในการรักษาต่อไป
ในประชากรกลุ่มนี้นอกจากจะมีโอกาสเกิดเนื้อร้ายของเต้านมแล้วยังเพิ่มโอกาสในการเกิดเนื้อร้ายของรังไข่ด้วย มีการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าการใช้ยาคุมกำเนิดในประชากรกลุ่มนี้สามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งรังไข่ได้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิด แต่อย่างไรก็ตามมีบางรายงานแสดงผลงานวิจัยออกมาว่าการได้รับยาคุมกำเนิดจะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมมากขึ้น ดังนั้นการให้ยาคุมกำเนิดเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นเนื้อร้ายของรังไข่จึงยังไม่แนะนำ
ผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมในระดับยีน (Genetic mutation of BRCA1 or BRCA2) มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- ฝึกคลำเต้านม (self breast examination) ด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 18 ปี
- พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านม(Clinical breast examination)ตั้งแต่อายุ 25 ปี ทุกๆ 6-12 เดือน
- ตรวจ Mammogram และ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของเต้านม (MRI Breast) ตั้งแต่อายุ 25 ปี ทุกปี หรือเริ่มที่อายุน้อยที่สุดของญาติพี่น้องที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้อร้ายของเต้านม
- ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง แนะนำเรื่องการลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมด้วยการตัดเต้านมทั้งสองข้าง รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
- ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง แนะนำเรื่องการลดความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ด้วยการตัดรังไข่ทั้งสองข้าง รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัด โดยแนะนำผ่าตัดภายหลังคลอดบุตรแล้วหรืออายุประมาณ 35-40 ปี หรือเริ่มที่อายุน้อยที่สุดของญาติพี่น้องที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้อร้ายของรังไข่
- ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรวมประเมินและวางแผนในเรื่องของคุณภาพชีวิตทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด
- สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ทำการผ่าตัดรังไข่ออก พิจารณาการทำอัลตร้าซาวน์ทางช่องคลอดร่วมกับค่าเนื้อร้ายในเลือด (CA-125) ทุก 6 เดือน ตั้งแต่อายุ 30 ปี
- แนะนำข้อดี ข้อเสียของการให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดเนื้อร้ายของเต้านมและรังไข่
ผู้ชายที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมในระดับยีน (Genetic mutation of BRCA2) มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- ฝึกคลำเต้านม (self breast examination) ด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 35 ปี
- พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านม(Clinical breast examination)ตั้งแต่อายุ 35 ปี ทุกๆ 6-12 เดือน
- ในผู้ชายที่มีเนื้อฐานเต้านมแนะนำการตรวจ Mammogram ตั้งแต่อายุ 40 ปี ทุกปี
- แนะนำการตรวจหาเนื้อร้ายของต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุ 40 ปี