“พังผืดใต้ลิ้น” ปัญหาของเจ้าตัวเล็ก

“พังผืดใต้ลิ้น”  ปัญหาของเจ้าตัวเล็ก

 

           ผศ.นพ.มงคล เลาหเพ็ญแสง

 ภาควิชาศัลยศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

มีทารกจำนวนหนึ่งที่เกิดมาพร้อมพังผืดใต้ลิ้น ทำให้มีปัญหาในการดูดนม ปัญหานี้ดูเหมือนจะเล็กแต่ก็ไม่เล็กสำหรับแม่และทารก  

 

พังผืดใต้ลิ้น เป็นเยื่อบางๆ บริเวณโคนลิ้นที่เกิดขึ้นในทารกทุกคน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ทารกบางรายอาจมีพังผืดติดมากจนถึงบริเวณปลายลิ้น  ทำให้เกิดปัญหาการเคลื่อนไหวของลิ้น  ที่เป็นตัวช่วยในการดูดนมจากเต้าของแม่ โดยทารกจะแลบลิ้นไปที่ลานหัวนมและรีดน้ำนมเข้าช่องปาก   หากทารกมีพังผืดติดใต้ลิ้นมากเกินไป  จะทำให้ปลายลิ้นขยับออกมาที่ลานหัวนมไม่ได้เมื่อต้องดูดนม คือแทนที่จะใช้ลิ้นช่วยในการดูดนม กลับต้องใช้เหงือกช่วยแทน เมื่อดูดบ่อยครั้งเข้า จะทำให้มารดาเกิดความเจ็บปวด เนื่องจากหัวนมแตกและเป็นอุปสรรคต่อการให้นมบุตร 

 

            วิธีสังเกตว่าลูกน้อยของคุณมีภาวะนี้หรือไม่   ให้ดูจากการงับหัวนมของทารก จะงับไม่ค่อยติด  ดูดนมเบา  ดูดนมบ่อย แต่น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นตามกำหนด มีอาการตัวเหลือง สำหรับมารดาก็จะมีอาการเจ็บขณะที่ทารกดูดนม อาจมีหัวนมแตกเป็นแผล ทำให้เต้านมอักเสบได้ ปัจจุบันคณะผู้ทำการรักษาได้ประยุกต์วิธีการผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่มาใช้ ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าทำการรักษาได้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับการรักษาโดยการดมยาสลบ จากนั้นขลิบพังผืดใต้ลิ้นเป็นอันผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย  วิธีนี้ดีที่ เด็กสามารถดูดนมและกลับบ้านได้ทันทีหลังผ่าตัด

 

            ปัญหาอื่นของภาวะลิ้นติดนอกจากการดูดนมแม่  ยังมีในเด็กโตที่มีพังผืดยึดมาถึงบริเวณปลายลิ้น อาจพูดไม่ได้  พูดช้า ไม่ชัดโดยเฉพาะตัวควบกล้ำ และมีปมด้อยได้ แต่เนื่องจากพังผืดที่เกิดในทารกแรกเกิดมีแนวโน้มที่จะยืดออกเองได้ จึงยังไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนในการรักษา หากยังไม่มีปัญหาเรื่องการดูดนมแม่ แพทย์ก็จะทำการนัดมาตรวจเป็นระยะๆ หากพังพืดยืดออกได้เองก็ไม่ต้องทำการรักษา หากไม่ยืดออกก็จะพิจารณาการรักษาต่อไป ซึ่งทางโรงพยาบาลศิริราช ได้จัดตั้งคลินิกรักษาพังผืดใต้ลิ้นเพื่อการดูแลรักษาครบวงจร  ทำให้ลูกน้อยได้ประโยชน์จากการดูดนมแม่อย่างเต็มที่ และหมดปัญหาในการพูด 

 

            เด็กหรือวัยรุ่นที่มีปัญหาพังผืดใต้ลิ้น ผู้ปกครองสามารถติดต่อได้ที่ คลินิกพังผืดใต้ลิ้น ตึกสยามินทร์ ชั้น 5  โรงพยาบาลศิริราช  โทร. 0 2419 8070  และ  0 2419 8319       

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด