การร้อยไหมเพื่อยกกระชับ (Thread Lifting)

การร้อยไหมเพื่อยกกระชับ (Thread Lifting)

ผศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา
                    ศูนย์เลเซอร์ผิวหนังและศัลยกรรมผิวหนัง
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ในปัจจุบันมีกระแสโฆษณาในการร้อยไหมเพื่อยกกระชับ (thread lifting) ในสื่อต่างๆอย่างแพร่หลาย สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยด้วยความตระหนักถึงความปลอดภัยและผลของการรักษาจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ที่สนใจการยกกระชับผิวด้วยวิธีการดังกล่าว

การร้อยไหมเพื่อยกกระชับเริ่มมีการใช้มาประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไหมที่ใช้ในระยะแรกเป็นไหมชนิดมีเงี่ยง (barb) โดยตัวเงี่ยงจะทำหน้าที่เสมือนหมุดยึดตรึงให้ไหมอยู่กับที่ ส่วนไหมที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันเป็นไหมชนิดไม่มีเงี่ยง (non-barb) ไหมชนิดมีเงี่ยง (barb) มีทั้งชนิดที่สามารถสลายหรือละลายตัวได้เอง ส่วนไหมชนิดไม่มีเงี่ยงที่ใช้ในปัจจุบันมักผลิตจากสารชื่อ “โพลีไดออกซาโนน (polydioxanone; PDO)” ซึ่งเป็นสารที่สามารถละลายตัวได้เองภายใน 6-8 เดือน

การร้อยไหมโพลีไดออกซาโนนหรือ PDO เพื่อยกกระชับผิวที่กำลังเป็นกระแสอยู่ขณะนี้เป็นวิธีการยกกระชับผิวที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเกาหลี ยังไม่มีการใช้ในสหรัฐอเมริกาหรือในยุโรป ปัจจุบันไหมโพลีไดออกซาโนนหรือ PDO ได้รับการอนุญาตการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ให้นำเข้ามาเพื่อใช้สำหรับการเย็บแผล และไม่ได้รับอนุญาตในการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการยกกระชับผิว

โดยสังเขปก่อนทำการร้อยไหมต้องทำให้ผิวหนังชาโดยการฉีดหรือทายาชา การร้อยไหมชนิดมีเงี่ยง (barb) จะสอดไหมในความลึกระดับชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ส่วนการร้อยไหมชนิดไม่มีเงี่ยง (non-barb) จะสอดไหมในระนาบแนวความลึกของชั้นหนังแท้ ซึ่งการสอดไหมให้อยู้ในระนาบนี้ต้องอาศัยทักษะความชำนาญและประสบการณ์ของแพทย์ การร้อยไหมชนิดมีเงี่ยงมักใช้จำนวนไหมเพียง 2-3 เส้นสอดเข้าบริเวณผิวหนังที่ต้องการยกกระชับ แต่การร้อยไหมชนิดไม่มีเงี่ยง มักใช้เส้นไหมขนาดความยาวตั้งแต่ 2.5-6 มิลลิเมตร จำนวนตั้งแต่ 20 ถึงกว่าร้อยเส้นสอดเข้าไปในผิวหนัง ผิวหนังหลังการร้อยไหมจะมีอาการบวมแดง และมีรอยช้ำตามแนวการสอดไหม ซึ่งรอยเหล่านี้มักหายใน 1-2 สัปดาห์ มีความเชื่อว่าการสอดไหมเข้าผิวหนังจะกระตุ้นให้ผิวสร้างเส้นใยคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ ซึ่งเส้นใยคอลลาเจนใหม่นี้จะช่วยให้ผิวบริเวณดังกล่าวมีความกระชับขึ้น

ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based) ทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า การร้อยไหมสามารถทำให้ผิวหนังเกิดการยกกระชับได้จริงหรือสามารถคงสภาพการกระชับได้นาน จากการทบทวนข้อมูลทางการแพทย์พบรายงานผู้ป่วยเพียง 2-3 ฉบับที่รายงานผลการร้อยไหมชนิดมีเงี่ยง ซึ่งระบุว่าว่าสามารถทำให้ผิวดูกระชับขึ้นในช่วงเดือนแรกหลังการร้อยไหม และผิวกลับสู่สภาพเดิมในระยะเวลาต่อมา การที่ผิวดูกระชับขึ้นในช่วงแรกเชื่อว่าเกิดจากการที่ผิวเกิดการบวมและอักเสบจากการสอดไหม อีกทั้งยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเส้นใยคอลลาเจนที่เชื่อว่ามีการสร้างใหม่จากการร้อยไหมละลาย เป็นคอลลาเจนปกติของผิวหนังหรือเป็นคอลลาเจนที่พบบริเวณที่มีแผลซึ่งจะมีลักษณะเป็นพังผืดที่อาจส่งผลต่อผิวหนังในระยะยาว โดยเฉพาะถ้ามีเหตุจำเป็นที่ต้องการทำผ่าตัดบริเวณนั้นในอนาคต

ผลข้างเคียงการร้อยไหมชนิดมีเงี่ยงที่มีผู้รายงานไว้ได้แก่ การเกิดผิวหนังบวมแดงเนื่องจากการแพ้ไหม การเห็นหรือคลำได้ปมไหม การเกิดรอยบุ๋มของผิวหนัง ปลายไหมโผล่ ผิวหนังสองข้างกระชับไม่เท่ากัน ยังไม่มีการรายงานผลข้างเคียงของการร้อยไหม PDO ชนิดไม่มีเงี่ยงในวาสารทางการแพทย์ แต่จากการสอบถามข้อมูลจากตจแพทย์และตจศัลยแพทย์พบว่ามีผู้ป่วยที่มาพบด้วยอาการเป็นเส้นนูนแดงตามแนวเส้นไหม ซึ่งเชื่อว่าเป็นอาการของการแพ้ไหม นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่มาพบเพราะคลำหรือสัมผัสเส้นไหมบริเวณผิวได้ จึงข้อให้ผู้ที่สนใจการยกกระชับผิวด้วยวิธีการร้อยไหมทำศึกษาข้อดีข้อเสียของวิธีการนี้ให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด