โรคเนื้องอกสมอง

โรคเนื้องอกสมอง

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงวุฒิศิริ  วีรสาร
ภาควิชารังสีวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

           เนื้องอกสมองเป็นโรคที่พบได้ประมาณร้อยละ 1.67 ของโรคมะเร็งทั้งหมด  พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง   ส่วนใหญ่จะพบมากใน 2 ช่วงอายุคือ อายุ 5-9 ปี และ 50-55 ปี  ซึ่งถ้าในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็ก  เนื้องอกสมองถือเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด
           ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการต่าง ๆ กัน ส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะนำมาก่อน ท่านอย่าตกใจหรือคิดว่าการปวดศีรษะครั้งนี้จะเกิดจากเนื้องอกสมอง  ควรสังเกตลักษณะของการปวดศีรษะ ดังนี้ ภายในกะโหลกศีรษะมีเนื้อที่จำกัดอยู่แล้ว เมื่อเกิดมีก้อนเนื้องอกไปฝังตัวอยู่และโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น ทำให้ปวดศีรษะ มักเป็นอาการปวดที่รุนแรง ปวดอยู่ตลอดเวลา และการรับประทานยาแก้ปวดไม่ช่วยให้อาการปวดศีรษะนั้นทุเลาลง  และมักจะมีการอาเจียนที่ไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน  นอกจากนี้ เมื่อก้อนเนื้องอกไปกดเบียดหรือทำลายเนื้อสมอง ผู้ป่วยอาจมีอาการหน้าเบี้ยว แขนขาชา แขนขาอ่อนแรง หรือชักได้  ผู้ป่วยบางรายญาติพามาพบแพทย์เพราะสาเหตุที่ทำอะไรแปลกไปจากเดิม ลักษณะคล้ายคนเสียสติ พูดไม่รู้เรื่อง  จะเห็นได้ว่าสมองเป็นอวัยวะที่ควบคุมการทำงานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การทำลายเนื้อสมองก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการต่าง ๆ กัน แล้วแต่ว่าเป็นเนื้องอกที่ส่วนใดของสมอง 
           เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์และแพทย์สงสัยว่าจะมีเนื้องอกอยู่ในสมอง ก่อนที่จะเริ่มการรักษาใด ๆ สิ่งที่ต้องกระทำก่อนอื่นคือ ตรวจหาอาการแสดงของการมีความดันในกะโหลกศีรษะสูง   เนื่องจากเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ในเวลารวดเร็ว  การรักษาเพื่อลดความดันลง ได้แก่ ฉีดยาลดความดันในสมองเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดการบวมรอบ ๆ เนื้องอก จำกัดน้ำ  ให้ผู้ป่วยนอนในท่าศีรษะสูง  และถ้าผู้ป่วยชักจะต้องให้ยาเพื่อควบคุมไม่ให้ชักอีก หลังจากนั้นจึงพิจารณาการตรวจรักษาที่เหมาะสมต่อไป คือ แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อหาว่ามีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วยหรือไม่ และมักจะส่งท่านไปตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาตำแหน่งและประเมินการลุกลามของเนื้องอก

           

           การรักษาหลักของโรคเนื้องอกสมองคือการผ่าตัด  ซึ่งเป็นการให้การวินิจฉัยโรคและการรักษาไป พร้อม ๆ  กัน  ทั้งยังเป็นการรักษาที่สามารถลดความดันในกะโหลกศีรษะได้รวดเร็วอีกด้วย ถ้าเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่ทำผ่าตัดได้และการผ่าตัดไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทมากขึ้น  แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเนื้องอกนั้นออกให้ได้มากที่สุด  การผ่าตัดรักษาเนื้องอกสมองในปัจจุบันนี้มีความละเอียดอ่อนมาก ในบางรายจะต้องใช้กล้องโทรทัศน์ขนาดเล็กและอุปกรณ์พิเศษทีมีขนาดเล็กร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีมาใช้ ทำให้การผ่าตัดสมองมีความปลอดภัยและรวดเร็วมากขึ้น  หลังจากผ่าตัดแล้วถ้ายังมีเนื้องอกหลงเหลืออยู่ในสมอง จะต้องพิจารณาว่า ถ้ามีเนื้องอกเหลืออยู่มากและอยู่ในเนื้อสมองส่วนที่สำคัญ เป็นเนื้องอกที่โตเร็ว หรือเป็นเนื้อมะเร็งสมอง ก็จะต้องฉายรังสีรักษาตามหลังการผ่าตัดด้วยเสมอ  นอกจากนี้ในรายที่เนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่ผ่าตัดออกยากตั้งแต่ต้น เช่น มีสมองส่วนที่สำคัญอยู่ใกล้เคียง บางครั้งการผ่าตัดจะเสี่ยงต่อการทำลายเนื้อสมองมากขึ้น แพทย์จะทำเพียงตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวินิจฉัยเท่านั้น แล้วส่งผู้ป่วยมารับการฉายรังสีรักษา โดยทั่วไปแล้วการฉายรังสีรักษาเป็นการรักษาเสริมการผ่าตัด หรือเป็นการรักษาประคับประคองในรายที่ไม่เหมาะสมที่จะเข้ารับการผ่าตัด

           การฉายรังสีรักษาเนื้องอกสมองในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างมาก ในรายที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กกว่า 3-4 เซนติเมตร และการรักษามุ่งหวังให้หายขาด ได้มีการนำเทคนิคการฉายรังสีวิธีใหม่ที่เรียกว่า การฉายรังสีรักษา 3 มิติ (Stereotactic radiotherapy) มาใช้  ประกอบด้วย  การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษามาสร้างภาพและช่วยกำหนดขอบเขตการรักษาแบบ 3 มิติ  เมื่อได้แผนการฉายรังสีที่เหมาะสมแล้วจะใช้เครื่องฉายรังสีชนิดเครื่องเร่งอนุภาคที่ประกอบกับอุปกรณ์จัดลำรังสีชนิดพิเศษสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างของลำรังสีได้ตามรูปร่างของก้อนเนื้องอก  และยังสามารถจัดลำรังสีจากหลาย ๆ ทิศทางให้ปริมาณรังสีรวมสูงสุดอยู่ที่ก้อนเนื้องอกเพียงตำแหน่งเดียว   โดยที่สมองส่วนอื่น ๆ เฉลี่ยแล้วได้ปริมาณรังสีน้อยมาก  เทคนิคนี้ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณรังสีที่ก้อนเนื้องอกได้สูงขึ้นมาก และมีความแม่นยำในการรักษาสูง ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าทางรังสีรักษาในการรักษาเนื้องอกสมองในขณะนี้   การฉายรังสีที่สมองจะต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก  โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กที่สมองกำลังเจริญเติบโตจะต้องพิจารณาถึง อายุของผู้ป่วย  ตำแหน่ง  ขนาด  และชนิดของเนื้องอกเป็นสำคัญ  เนื้องอกบางชนิดตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดดี   การรักษาร่วมกันระหว่างรังสีรักษาและยาเคมีบำบัดจะทำให้เราสามารถลดปริมาณรังสีลงได้  เหมาะสำหรับผู้ป่วยอายุน้อยที่มีเนื้องอกอยู่ในบริเวณที่สำคัญ ดังจะทราบแล้วว่าในปัจจุบันการแพทย์ในสาขาต่าง ๆ มีการพัฒนาอย่างมากและรวดเร็ว การตรวจและรักษาเนื้องอกก็มีการพัฒนาไปอย่างมากและรวดเร็วเช่นกัน ได้มีการนำเทคนิคที่ทันสมัยมาใช้  จึงทำให้ผลการรักษาเนื้องอกสมองในปัจจุบันดีขึ้นมาก และยังมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด