โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร

โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร

 

สมองทำงานโดยอาศัยพลังงานจากน้ำตาลกลูโคสและออกซิเจนที่อยู่ในกระแสเลือด ซึ่งสูบฉีดมาจากหัวใจผ่านทางหลอดเลือดสมอง เมื่อเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เช่น เกิดการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมองจะมีผลให้สมองขาดออกซิเจนจึงเกิดภาวะสมองขาดเลือดและเนื้อสมองตายตามมาในที่สุด ในกรณีที่เกิดการแตกของหลอดเลือดสมอง เบือดที่ออกจะกดเบียดเนื้อสมองบริเวณโดยรอบส่งผลให้เกิดอาการทางระบบประสาทขึ้น

 

สมองแต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกัน เมื่อสมองส่วนหนึ่งเกิดการขาดเลือด หรือถูกกดเบียดร่างกายซึ่งถูกควบคุมด้วยสมองก็จะเกิดความผิดปกติตามมา เช่น มีอาการแขยขาอ่อนแรงครึ่งซีก การมองเห็นผิดปกติ มีปัญหาในการใช้คำพูดติดต่อ สื่อสาร เป็นต้น

 

 

 

สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง

 

1. หลอดเลือดสมองตีบตันหรืออุดตัน (ischemic stroke) พบได้ประมาณ 70-85% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด

 

2. หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) ทำให้มีเลือดออกมาอยู่ในเนื้อสมอง (intracerebral hemorrhage) หรือเยื่อหุ้มสมอง (subarachnoid hemorrhage) พบประมาณ 15-30% ของโรคหลอดเลือดสมอง

 

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient Ischemic Attack, TIA) คืออะไร?

 

ผู้ป่วยที่เกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ หรืออัมพฤกษ์ จะมีอาการและแสดงอาการเหมือนกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน แต่จะหายกลับเป็นปกติได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ ภายใน 30 นาที

 

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ ถึงแม้ว่าอาการจะเกิดเพียงระยะเวลาไม่นาน แต่มีความสำคัญมากเพราะเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตราย จากการศึกษาพบว่า อัตราการเกิดภาวะอัมพฤกษ์อัมพาตซ้ำสูงถึง 5% ภายใน 48 ชั่วโมง และ 10% ที่ระยะเวลา 3 เดือนหลังเกิดอาการ ดังนั้น แม้ว่าอาการต่างๆ จะหายไปแล้วก็ตามยังต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและป้องกันการเกิดซ้ำ