ประวัติความเป็นมา

หลักการและเหตุผล

 

โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยและมีอัตราความพิการสูง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสูงถึง 15 ล้านคนต่อปี หนึ่งในสามของผู้ป่วยดังกล่าวจะเสียชีวิต ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของสาเหตุการตายทั้งหมด นอกจากนั้นผู้ป่วยที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะทุพพลภาพเรื้อรัง

 

สำหรับในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 1.88 รายต่อ100 ราย ในประชากรอายุ 45-80 ปี การศึกษาเพื่อประเมินคุณภาพการรักษาโดยรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยกว่า 1,000 รายจากสหสถาบันทั่วประเทศพบว่า ณ วันที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะเสียชีวิตประมาณร้อยละ 5 และพิการร้อยละ 70 ซึ่งเมื่อคำนวณโดยใช้ดัชนีปีสุขภาวะที่ปรับด้วยความบกพร่องทางสุขภาพหรือการสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability Adjusted Life years: DALYs) พบว่าภาระโรคจากปัญหาหลอดเลือดสมองสูงเป็นอันดับ 1 ในเพศหญิงและเป็นอันดับ 4 ในเพศชาย โดยจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคตเนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มากขึ้น ข้อมูลจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี (พ.ศ. 2547-2556) ของโรงพยาบาลศิริราชพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยในมีประมาณ 800-1,100 รายต่อปี และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆจาก 759 รายในปี พ.ศ. 2549 เพิ่มเป็น 1,073 รายในปี พ.ศ. 2555 โดยร้อยละ 60 ของจำนวนดังกล่าวจะได้รับการดูแลในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่เหลือร้อยละ 40 จะกระจายอยู่ตามหอผู้ป่วยต่างๆในตึกอัษฎางค์และหอผู้ป่วยพักค้างระยะสั้น ทำให้มีความแตกต่างกันในด้านคุณภาพการรักษา อีกทั้งขาดการประสานงานกันอย่างต่อเนื่องของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย

 

การพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้เป็นเลิศจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เริ่มตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วยในระยะเฉียบพลัน การตรวจประเมินเบื้องต้นที่ห้องฉุกเฉิน การส่งตรวจภาพเอ็กซเรย์สมองและตรวจเลือดผ่านช่องทางเร่งด่วน การตามประสาทแพทย์ที่อยู่เวรเพื่อประเมินผู้ป่วยและตัดสินการรักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (intravenous t-PA) การตามแพทย์สาขารังสีวิทยาหลอดเลือดเพื่อให้การรักษาด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือดและใช้อุปกรณ์ในการลากหรือดูดลิ่มเลือดที่อุดตันออก (mechanical thrombectomy)ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ การรับตัวผู้ป่วยเข้าดูแลในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (acute stroke unit) การทำกายภาพบำบัดในระหว่างอยู่โรงพยาบาล การสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและกำหนดแนวทางการป้องกันการเกิดซ้ำ การวางแผนกลับบ้าน การให้คำแนะนำเรื่องยาและโภชนาการ การดูแลต่อเนื่องรวมทั้งให้ความรู้และแนวทางการปฏิบัติเมื่อกลับบ้าน ซึ่งขั้นตอนที่กล่าวมาทั้งหมดจำเป็นต้องมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กระบวนการดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ

 

เนื่องจากวิทยาการด้านโรคหลอดเลือดสมองมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมากทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัย การรักษาโรค และการป้องกัน อีกทั้งปริมาณผู้ป่วยที่มากขึ้น เครื่องมือและบุคลากรที่ให้บริการมีจำนวนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีความซับซ้อนในระดับที่โรงพยาบาลทั่วไปไม่สามารถให้การดูแลรักษาได้ จำเป็นต้องได้รับการส่งต่อ เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรับการรักษาต่อในสถานพยาบาลระดับโรงเรียนแพทย์ ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์โรคหลอดเลือดสมองโรงพยาบาลศิริราชจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยศูนย์จะเป็นผู้ทำหน้าที่ประสานงานให้แต่ละฝ่ายทำงานได้สอดประสานกันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิด การพัฒนาระบบการรักษาโรคหลอดเลือดสมองผ่านช่องทางเร่งด่วน (acute stroke fast track) การพัฒนาระบบการรับส่งผู้ป่วยในระยะเฉียบพลัน การพัฒนาคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยโดยรวม การพัฒนาระบบเครือข่ายส่งต่อผู้ป่วย การดำเนินงานในเชิงรุกสู่ชุมชนเพื่อป้องกันโรคและให้ตระหนักรู้ถึงอาการและแนวทางการปฏิบัติเบื้องต้น การพัฒนางานวิจัยเฉพาะด้าน เพื่อความเป็นเลิศด้านโรคหลอดเลือดสมองทั้งในด้านบริการผู้ป่วย การเรียนการสอน การวิจัย การนำความรู้สู่ชุมชนในระดับประเทศและเอเชียอาคเนย์

 

วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม ของการจัดบริการและถ่ายทอดสู่การปฏิบัติ

 

วิสัยทัศน์ : การมีชีวิตอยู่โดยปราศจากโรคหลอดเลือดสมอง (A Life without stroke )

 

พันธกิจ : ส่งเสริมให้ประชาชน เครือข่ายองค์กร ร่วมกันป้องกันโรคและลดภาระอันเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองโดยให้ความรู้และสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ กระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ง่าย เพื่อลดภาระโรคอันเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง (To empower people and related organizations to reduce stroke burden by providing the best care, education and conducting quality stroke researches)