Powered by Flash Web Templates Designed by Website Template
ที่ตั้ง
 งานโภชนศาสตร์คลินิก
 อาคารโภชนาการ ชั้น 4
 โรงพยาบาลศิริราช
 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย
 กรุงเทพฯ 10700

 โทรศัพท์:

 02-419-7740-1 [สายตรง]
 97740-1 [ภายใน]
 โทรสาร:
 02-412-9841
 อีเมล์:  sisrrc@mahidol.ac.th



พัฒนาการในการบริหารยาและอาหารทางหลอดเลือดดำ

          เนื่องจากเป็นการให้อาหารเข้าสู่ระบบไหลเวียนกลางโดยตรง การติดเชื้อจึงเป็นโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมาก การผสมสารอาหารต้องการความสะอาดอย่างยิ่งยวด เพื่อลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน ลำพังการผสมสารละลาย (Total Parenteral Nutrition Admixture) แต่ละครั้งจึงนับได้ว่าเป็นเรื่องเอิกเกริกมาก และเป็นงานที่ใช้ทั้งแรงงานและเวลา ความผิดพลาดในการผสมที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงให้ได้ ลำพังงานประจำใน Burns unit ของอาจารย์จอมจักรก็ทำแทบไม่ทันแล้ว ด้วยกำลังคนในฝ่ายเภสัชกรรมในขณะนั้นยังมีอยู่จำกัดมาก ฝ่ายเภสัชกรรมจึงไม่อาจทำงานการผสมให้ได้ทั้งหมดได้ตามความต้องการในแต่ละวันได้ อาจารย์จอมจักรได้สร้างห้องผสม TPN ขึ้นที่ตึกอุบัติเหตุ ซึ่งมีตู้ lamina flow hood เครื่องแรกของภาควิชาศัลยศาสตร์ และได้ฝึกเจ้าหน้าที่พยาบาลมาทำงานผสมและดูแลสารอาหารอย่างถูกวิธี แพทย์ประจำบ้านจะได้มาเรียนรู้วิธีการผสมที่ถูกต้องไว้และถ่ายทอดให้กับรุ่นน้องๆได้ แพทย์ประจำบ้านอาวุโสที่มีประสบการณ์แล้วจะสอนขั้นตอนต่าง ๆ ในการผสมให้กับรุ่นน้อง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถคำนวณ ตระเตรียม และทำการผสมสารอาหารได้ถูกวิธี ทุกวันหยุดจะมีตะกร้าใบใหญ่บรรจุสารอาหารต่าง ๆ ที่ทางพยาบาลแต่ละตึกที่มีการให้ TPN จัดส่งส่วนผสมมาไว้หน้าห้องผสม TPN แพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมเวรจะรับหน้าที่ต่ออยู่ที่ห้องผสม TPN ตลอดครึ่งเช้า ขลุกอยู่กับการผสม TPN การทำงานแบบดั้งเดิมนี้แม้จะหยุมหยิม กินเวลา แต่ก็ทำให้แพทย์ประจำบ้านแต่ละคน มีอาวุธครบตัว เมื่อจบออกไป หลายต่อหลายท่านก็ได้ความรู้ความสามารถนี้ติดตัวไปใช้และถ่ายทอดต่อ ๆ กัน

          เมื่อย่างเข้าศตวรรษที่ 21 เนื่องจากการขยายตัวของการให้โภชนบำบัดมีมากขึ้น และการผสมสารอาหารจำนวนมากเป็นภาระมากเกินไปแก่ แพทย์ประจำบ้าน และเพื่อให้การทำงานเป็นระบบและลดความเสี่ยงจากความผิดพลาด ทีมโภชนบำบัดและฝ่ายบริการทางฝ่ายเภสัชกรรม ซึ่งมีพัฒนาการขึ้นมากและมีกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถมากขึ้น ก็ได้ร่วมกันจัดสูตรอาหารที่ใช้บ่อยสามารถเตรียมให้ในปริมาณมาก ๆ และจัดตั้งห้องผสมที่ฝ่ายเวชภัณฑ์ปลอดเชื้อของโรงพยาบาล ซึ่งทำให้แพทย์สามารถเลือกใช้ตามความต้องการเป็นราย ๆ ไป โดยไม่ต้องเสียเวลาในการผสมเอง

พัฒนาการวิธีการในการให้อาหารแก่ผู้ป่วย

          การใส่สายให้อาหารทางหลอดเลือดดำระยะสั้นและยาว (Venous Access Port) มีการใช้กันมากขึ้น ทั้งเพื่อให้อาหารและใช้บริหารยาเคมีบำบัด แม้จะเป็น life line ของผู้ป่วย แต่ก็มีความเสี่ยงการติดเชื้อ หรือเกิดโรคแทรกซ้อนสูง หากผู้ดูแลขาดความจัดเจนในการดูแล จึงจำเป็นต้องมี protocol ในการดูแล และพยาบาลที่ทำการดูแลการบริหารยาจำเป็นต้องได้รับการอบรมดูแล มีความเข้าใจในการใช้สายให้อาหารเป็นอย่างดี ผศ.นพ.ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์ และร่วมกับหน่วยเคมีบำบัดได้ร่วมกันจัดการอบรมพยาบาลผู้ดูแล Venous Access Port ส่วนคุณศิริยา โชควิวัฒนวนิช และคุณส่งศรี แก้วถนอม ได้เป็นวิทยากรในการจัดอบรมพยาบาลทั้งในและนอกโรงพยาบาลศิริราช

          ในช่วงปี พ.ศ. 2534 บทบาทของการให้สารอาหารผ่านทางเดินอาหาร ได้รับการยอมรับมากขึ้น และกลายเป็นทางหลักในการให้สารอาหารแก่ผู้ป่วย 80% ของผู้ป่วยมักจะสามารถให้อาหารทางทางเดินอาหารได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหากมีการวางแผนการมาอย่างดี เทคโนโลยีด้าน endoscopy และสายให้อาหารได้พัฒนาขึ้น ทำให้การใส่ gastrostomy ทำได้โดยง่ายโดย Percutaneous Endoscopic Route (PEG) หน่วยศัลยกรรมทั่วไปได้เริ่มทำและขยายตัวแทนที่จนแทบไม่มีการผ่าตัดเพื่อใส่สาย gastrostomy แล้วในปัจจุบัน นอกจากนั้นการใส่สายเข้าสู่ jenunum ก็ทำได้หลากหลายวิธี ทั้งทาง endoscopy และ การทำผ่าน PEG ด้วยวิธีเหล่านี้ ผู้ป่วยจำนวนมากจึงสามารถเลี่ยงจากการให้ Total Parenteral Nutrition (TPN) มาเป็น Enteral Nutrition (EN) ได้ ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก และลดความเสี่ยงของผู้ป่วยลงอย่างมาก การควบคุมการให้อาหารทางทางเดินอาหารในผู้ป่วยภาวะวิกฤตได้กลายเป็นมาตรฐาน และงานโภชนศาสตร์คลินิก เป็นศูนย์กลางในการบริหารเครื่อง Enteral Pump ซึ่งให้บริการและให้คำปรึกษาแก่หอผู้ป่วยต่าง ๆ ทั่วโรงพยาบาล รวมทั้งการสอนบุคลากร และญาติผู้ป่วยในการดูแลการให้อาหารทางสายให้อาหารแก่ผู้ป่วย และญาติ

 << ย้อนกลับ   |  1  |  2  |  3  |  4  |  5  |  6  |  7  |  8  | หน้าถัดไป >>