Powered by Flash Web Templates Designed by Website Template
ที่ตั้ง
 งานโภชนศาสตร์คลินิก
 อาคารโภชนาการ ชั้น 4
 โรงพยาบาลศิริราช
 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย
 กรุงเทพฯ 10700

 โทรศัพท์:

 02-419-7740-1 [สายตรง]
 97740-1 [ภายใน]
 โทรสาร:
 02-412-9841
 อีเมล์:  sisrrc@mahidol.ac.th



ความเป็นมา

          ศัลยกรรมเป็นแขนงการแพทย์ที่มีการผ่าตัด ซึ่งโดยวิธีการแล้วเป็นการรักษาโรคโดยการตัดเนื้อเยื่อที่ไม่ต้องการหรือที่ก่อโรคออก หรือการตกแต่งเพื่อแก้ไขความพิการ ความสามารถในการหายของบาดแผลและฟื้นตัวจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ร่างกายมนุษย์มีกลไกในการซ่อมแซมตัวเองที่มหัศจรรย์โดยธรรมชาติอยู่แล้ว หากทุนเดิมของร่างกายมีอยู่เพียงพอ และถ้าการบาดเจ็บไม่รุนแรงนัก ร่างกายจะผ่านระยะการฟื้นตัวนี้ไปได้ด้วยดี ศัลยแพทย์ใช้ฝีมือถึงที่สุดในการรักษา โดยลดการบาดเจ็บของผู้ป่วยที่เหลือความเป็นตายของผู้ป่วย จึงขึ้นอยู่กับทุนเดิมของผู้ป่วยเป็นสำคัญด้วย อย่างไรก็ดี ศัลยแพทย์เลือกที่จะผ่าเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคง่าย ๆ ไม่ได้และ ผู้ป่วยที่ป่วยหนักก็มักจะเป็นผู้ป่วยที่ท้าทายความสามารถของศัลยแพทย์ในการผ่าตัดมากเป็นพิเศษ แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพขาดอาหารอย่างรุนแรง เช่น มะเร็งหรือมีภาวะความเจ็บป่วยที่รุนแรงมี catabolism มาก ๆ เช่น ผู้ป่วยไฟลวกรุนแรง การบาดเจ็บหลายระบบ มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลแยก รอยเย็บลำไส้ทะลุและมักมีการติดเชื้อรุนแรงเกิดขึ้นได้ง่าย ส่วนใหญ่การผ่าตัดในผู้ป่วยเหล่านี้ จึงมักจะไม่สามารถหลีกเลี่ยง หรือประวิงเวลาได้ เพราะถ้าไม่ผ่าตัดรักษาผู้ป่วย ก็มีแต่หนทางตายถ่ายเดียวเท่านั้น นี่เป็นปัญหาท้าทายศัลยแพทย์ตั้งแต่มีกำเนิดการแพทย์แผนปัจจุบัน(ตะวันตก)มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 การแสวงหาวิธีการที่จะให้อาหารผู้ป่วย เพื่อฟื้นฟูสภาพทางโภชนาการของผู้ป่วยที่ขาดอาหารให้กลับสู่ภาวะปกติหรือใกล้ปกติ และวิธีการที่จะให้อาหารในระหว่างการฟื้นตัวในขณะที่ผู้ป่วยที่รับอาหารเองไม่ได้ทางปาก จึงเป็นสิ่งที่ศัลยแพทย์ต้องการเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง จึงไม่นับเป็นเรื่องแปลกที่ความสำคัญของโภชนบำบัดถูกจัดไว้ว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญมากที่สุด 1 ใน 50 อย่างของการแพทย์แผนปัจจุบันในศตวรรษที่ 20

          แม้ว่าการให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำจะเริ่มใช้ในการรักษาอหิวาตกโรค โดย Dr. Latta ซึ่งรายงานในวารสาร Lancet เมื่อปีพ.ศ. 2375 แต่กว่าจะเริ่มมีการให้สารอาหารทางเส้นเลือดดำก็ล่วงเข้ามาอีกศตวรรษ ในปีพ.ศ. 2480 Dr. Elman และ Weiner สามารถเตรียมสารละลาย Carbohydrate และ Protein hydrolysate และให้เข้าสู่ผู้ป่วยเป็นครั้งแรก แต่ปัญหาในการผลิตในสมัยนั้นยังไม่อำนวยที่จะใช้ในปริมาณมาก กระทั่งปีพ.ศ. 2483 - 2493 Dr. Jonathan E Rhodes แห่งมหาวิทยาลัย Pennsylvania ซึ่งเล็งเห็นว่าการให้อาหารทางหลอดเลือดดำจะเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยศัลยกรรมรอดชีวิตได้ สนับสนุน Dr. Harry Vars วิจัยและพัฒนาเทคนิคการเตรียม Protein hydrolysat จนเป็นผลสำเร็จ ในปีพ.ศ. 2508 แพทย์ประจำบ้านของ Dr. Rhodes และ Dr. Vars คือ Dr. Stanley Dudrick แสดงให้เห็นว่าสามารถใช้สารละลายนี้ทดแทนการกินอย่างสิ้นเชิงได้ในสุนัขชื่อบีเกิลทดลอง สามารถทำให้สุนัขมีการเจริญเติบโตสมวัยเทียบกับสุนัขปกติ และนำเทคนิคนี้ไปในใช้ในผู้ป่วยจริงเป็นผลสำเร็จ ผู้ป่วยทางศัลยกรรมที่เคยคิดว่าสิ้นหวังแล้วเนื่องจากไม่สามารถรับอาหารได้มีหนทางที่จะรอดชีวิตได้เป็นครั้งแรก Dr. Wilmore ซึ่งเข้าร่วมทีมได้แสดงให้เห็นความสำเร็จการใช้เทคนิคนี้ในผู้ป่วยทารกที่เป็น Short Bowel Syndromes ซึ่งไม่เพียงแต่จะเลี้ยงเด็กให้รอดชีวิตได้เท่านั้น แต่ยังมีการเจริญเติบโตได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ เทคนิคนี้ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลอื่นๆ อย่างกว้างขวาง นับว่าเป็นการเริ่มศักราชการให้โภชนบำบัดทางหลอดโลหิตดำ (Parenterl nutrition) ในผู้ป่วย ในสถานพยาบาลทั่วโลก ซึ่งต่อมาก็พัฒนาการไปจนกระทั่งสามารถฝึกให้ผู้ป่วยหรือญาติ ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำที่บ้าน (Home Parenterl Nutrition)ได้เอง

|  1  |  2  |  3  |  4  |  5  |  6  |  7  |  8  | หน้าถัดไป >>