ศิริราช จับมือ 6 องค์กร ลงนาม MOU การพัฒนานวัตกรรมการจัดการด้านการดูแล ติดตาม และเฝ้าระวังทางสุขภาพของผู้สูงอายุ

การผนึกกำลังร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชนในหลากหลายมิติ ทั้งการวิจัยทางการแพทย์และคลินิก การวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและสังคม นวัตกรรมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของผู้สูงอายุไทยที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกระดูกหัก

วันนี้ (28 ส.ค. 67) เวลา 13.00 น. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล พร้อมด้วย 6 องค์กรภาคีเครือข่ายและพันธมิตร ได้แก่ สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการพลัดตกหกล้ม
ที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขสำคัญระดับโลก
จึงจับมือขับเคลื่อนนวัตกรรมการดูแล ติดตามและเฝ้าระวังสุขภาพ เพื่อให้อัตราการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุลดลง ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล รศ.พ.ต.ต.นพ.ธงชัย สุนทราภา คณะทำงานฝ่ายกิจการพิเศษสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภาและ ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ประธานรับเลือกราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions รักษาการผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ สายงานเทคโนโลยี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมการจัดการดูแล ติดตามและเฝ้าระวังทางสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกระดูกหัก รวมถึงการหักซ้ำณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 2 รพ.ศิริราช

การพลัดตกหกล้มเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ หากเกิดการพลัดตกหกล้มอาจส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกหัก ตลอดจนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสถิติการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ปี พ.ศ. 2560 - 2565 โดย กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าอุบัติการณ์ของกระดูกสะโพกหักจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 2.02 ต่อปี จึงประมาณการณ์ได้ว่าจำนวนผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจะเพิ่มขึ้นจาก 23,426 รายในปี พ.ศ. 2549 เป็น 34,246 ราย ในปี พ.ศ. 2568 และเป็น 56,443 ราย ในปี พ.ศ. 2593 และจากการรายงานโดย WHO พบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้ม ประมาณ 684,000 ราย กลุ่มอายุที่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งร้อยละ 60 ของการเสียชีวิตมาจากการพลัดตกหกล้ม เกิดในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ประกอบด้วย ปัจจัยทางด้านปัจเจกบุคคล อาทิ อายุ โรคกระดูกพรุน โรคร่วม เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน หลอดเลือดสมอง เป็นต้น รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ลักษณะของที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม เช่น บันไดชัน ไม่มีราวจับบันได พื้นลื่น เป็นต้น ดังนั้น การลดอัตราการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และรูปแบบบริการที่สามารถค้นหาผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงต่อการหกล้ม พร้อมทั้งประเมินปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ไขหรือจัดการได้ในผู้สูงอายุแต่ละคน เพื่อจัดการปัจจัยเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถประมวลผลความเสี่ยงการพลัดตกหกล้ม เพื่อวางแผนเฝ้าระวังและป้องกันได้ตรงกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญ “ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศถูกนำมาใช้ในการประมวลผลความเสี่ยงต่อการหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน ส่งต่อข้อมูลความเสี่ยงให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิในชุมชน เพื่อวางแผนเฝ้าระวังและให้มาตรการป้องกันได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งมีแนวทางการสื่อสารความรู้และการดูแลตนเองตามความเสี่ยงให้กับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังเก็บรวบรวมข้อมูลการรักษาและความจำเป็นในการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน พร้อมจัดส่งข้อมูลให้กับเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ หากดำเนินการระบบดังกล่าวเสร็จสิ้น จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยจากการพลัดตกหกล้ม ลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น”

ความร่วมมือนี้ไม่เพียงแต่สนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถสื่อสารความรู้และการดูแลตนเองตามความเสี่ยงให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลการรักษาและการดูแลต่อเนื่องที่บ้านและการจัดส่งข้อมูลให้กับเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับ “นวัตกรรมด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และระบบสุขภาพในประเทศไทยอย่างยั่งยืน