Nine Steps of A Systematic Review
ปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากที่เผยแพร่ในฐานข้อมูลวิชาการทั้งในระดับประเทศไทยและระดับสากล ในหลากหลายครั้งที่งานวิจัยเหล่านี้ดำเนินการในประเด็นเดียวกัน แต่มีความแตกต่างด้านบริบท อาทิเช่น จำนวนกลุ่มตัวอย่าง ภูมิภาคที่ศึกษา ทำให้ได้ผลการศึกษาที่ควรเป็นไปทิศทางเดียวกัน กลับไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้ผู้อ่านงานวิจัยไม่สามารถสรุปผลได้ หากอ่านเพียงงานวิจัยแบบเดี่ยวๆ จึงทำให้การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์มีข้อจำกัด
Systematic review หรือ การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อประเด็นหรือคำถามวิจัยโดยใช้วิธีทบทวนและวิเคราะห์หลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่อย่างมีขั้นตอนเป็นระบบ ชัดเจน และโปร่งใส เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์และครอบคลุมที่สุด โดยการกำหนดกรอบการสืบค้น กำหนดฐานข้อมูล การประเมินคุณภาพของข้อมูลหรือผลงานวิจัยที่นำมาศึกษา การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เชิงอภิมาน (Meta-analysis) ซึ่งสามารถทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และทำให้ผลการวิจัยมีความน่าเชื่อถือและมีกำลัง (power) เพียงพอที่จะแสดงให้ถึงนัยยะสำคัญทางสถิติ
ดังนั้นงาน Systematic review จึงมีความสำคัญและเป็นหลักฐานทางวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือสูง ผลของการทบทวนและวิจัย สามารถนำไปใช้ในการการดูแลผู้ป่วย หรือนำไปศึกษาต่อยอดเพื่อประเมินความคุ้มค่าของมาตรการด้านสุขภาพ และการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HTA)
ในหลายๆ ประเทศรวมถึงในประเทศไทย การกำหนดนโยบายด้านสุขภาพจึงมีการนำการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HTA) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ ในประเด็นของเทคโนโลยีหรือการดูแลรักษารูปแบบใหม่ก่อนนำเข้าสู่ระบบสุขภาพและสาธารณสุขในระดับประเทศ
หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ (Siriraj Health Policy) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ในด้านงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข ซึ่งนำไปสู่การจัดรายวิชา SIID460 Research Practice : systematic review track เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาแพทย์ ได้เรียนรู้แนวทางและขั้นตอนการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic review) จนสามารถพัฒนา Systematic review Protocol ตาม PROSPERO format และนำไปลงทะเบียนเพื่อประโยชน์ในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในอนาคตได้ โดยในปีการศึกษา 2566 มีนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ให้ความสนใจลงทะเบียนกว่า 40 คน
นอกจากนักศึกษาแพทย์จะได้รับการฝึกฝนด้านการเขียนโครงร่างการวิจัยและฝึกปฎิบัติการวิเคราะห์อภิมานแล้ว การปลูกฝังแนวคิดในเรื่องนี้ยังเป็นรากฐานหนึ่งในการเพิ่มพูนทักษะของพวกเขานอกเหนือจากความเชี่ยวชาญทางคลีนิก และ ทักษะทางด้านการวิจัย (Research Skills) เพื่อให้นักศึกษาแพทย์มีทักษะด้าน Soft Skill อื่นๆ ที่สำคัญในอนาคต เช่น Critical Thinking, Evidence-Based Practice (EBP), Problem-Solving, Creativity, Communication ต่อไปอีกด้วย
📚
รายวิชาเลือก SIID460 Research Practice: Systematic Review Path
เปิดสำหรับนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ชั้นปีที่ 4
หลักสูตร 8 สัปดาห์
ขอรับคำปรึกษาด้านงานวิจัยและการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HTA)
https://siform.si.mahidol.ac.th/siform/view.php?id=108172