ผลงานวิจัยพร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก ต่อสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.)
ภาวะกระดูกสะโพกหัก (hip fracture) ในผู้สูงอายุ เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของระบบสาธารณสุทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม ประกอบด้วยการรักษาโดยการผาตัดเร็ว (fast track surgery) และการดูแลโดยทีมสหสาขาวิชาชีพก่อนและหลังผ่าตัด ทีมวิจัยมีวัตถุประสงค์ในการ ศึกษาติดตาม โครงการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก ตามแนวทาง Fast Track Surgery for Hip Fracture Program ในโรงพยาบาลนำร่อง เพื่อต้องการศึกษา ผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยหลังการมีการดูแลแบบ fast track surgery ในโรงพยาบาลนำร่อง โครงสร้างในโรงพยาบาลและการปรับเปลี่ยนเพื่อการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลลัพธ์คลินิก
ผลการศึกษาพบว่า การดูแลคนไข้กระดูกสะโพกหักในประเทศไทย ยังมีอัตราการผ่าตัดเร็วต่ำ มีการรักษาโดยการไม่ผ่าตัดสูงถึงร้อยละ 40 โดยในโรงพยาบาลนำร่อง มีอัตราการผ่าตัดเร็ว และ อัตราการผ่าตัดรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ โดยโรงพยาบาลนำร่องมีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและกระบวนการเพื่อให้มีการดูแลคนไข้กลุ่มนี้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามยังเปลี่ยนได้ไม่ครบตามเกณฑ์ที่มีการแนะนำ
ผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วย พบว่า อัตราการตายรวมในโรงพยาบาลนำร่องที่มีการผ่าตัดเร็วมีแนวโน้มจะลดลงหลังมีโครงการนำร่อง แต่ยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจัยสำคัญน่าจะเกิดจากการที่โครงสร้าง และกระบวนการดูแลตลอดความเจ็บป่วยยังทำได้ไม่ครบองค์ประกอบที่สำคัญ จากการวิเคราะห์เชิงถดถอยพหุคูณเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อผลลัพธ์ทางคลินิกโดยวิเคราะห์ในระดับโรงพยาบาล พบว่า ปัจจัยที่มีผลลดอัตราการตายที่ 1 ปีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ การมีอายุรแพทย์ร่วมดูแลหลังผ่าตัด ปัจจัยที่มีผลลดอัตราการตายที่ 3 เดือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ การมีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูร่วมดูแลหลังผ่าตัด
การศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อการดูแลผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในประเทศไทยพบว่า ผลของการแพร่ระบาด ไม่ได้ส่งผลลบต่ออัตราการผ่าตัดเร็ว และ ผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยกลุ่มนี้