ความรับผิดชอบต่อสังคม ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตามมาตรฐาน ISO 26000

     จากกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมที่มีการตื่นตัวขึ้นมาก รวมถึงการต่อต้านการคอรัปชั่นซึ่งองค์กรต่างๆถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงนำมาตราฐาน ISO 26000 มาปรับใช้ในกระบวนการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

     ISO 26000 เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่กำหนดโดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO)  สำหรับ ISO 26000: Social Responsibility  ว่าด้วยเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นมาตรฐานเชิงแนะนำ (Guidance Standard) มิใช่มาตรฐานเชิงกฏเกณฑ์เป็นเนื้อหาหรือแนวทางที่จะนำไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ได้ตามสมัครใจ ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของขนาดหรือรูปแบบขององค์กรนั้นๆ

ISO26000 ประกอบด้วย 7 หัวข้อหลัก รายละเอียดดังนี้

     1. การกำกับดูแลองค์กร (Organizational Governance)

กลไกการกำกับองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน ดูแลโครงสร้างการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้สามารถจะนำความรับผิดชอบต่อสังคมมาสอดแทรกในด้านดำเนินงานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

     2. สิทธิมนุษยชน (Human Rights)

การคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในทุกระดับ เช่น สิทธิพลเมือง สิทธิในชีวิตและเสรีภาพ การทำงาน  สุขภาพ ให้โอกาสกับแรงงานอย่างเท่าเทียม รวมทั้งไม่แบ่งเชื้อชาติหรือชนชั้น ยกเลิกหรือป้องกันการใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น

     3. ปฏิบัติด้านแรงงาน (Labor Practices)

เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายและหลักจริยธรรมและการปฏิบัติงานอย่างมีความสุข เช่น การจ้าง การเลื่อนขั้น การไล่ออก และการย้ายต่างๆของพนักงานหรือแรงงาน การฝึกอบรมและการพัฒนาฝีมือแรงงานต่างๆ การป้องกันหรือความปลอดภัย รวมถึงสุขภาพอนามัยของแรงงาน เป็นต้น โดยเกือบทุกองค์กรมีการทำสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว โดยเพิ่มเป็นกฎขององค์กรอย่างชัดเจน รวมถึงการทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

4. การดูสิ่งแวดล้อม (Environment)

การคำนึงถึงผลกระทบด้านการใช้ทรัพยากร  มลภาวะ และของเสีย รวมถึงผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรต่อแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต ป้องกันสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงระยะยาวเป็นหลัก และอย่าเอาแต่ผัดวันประกันพรุ่งว่ายังไม่ถึงเวลา แต่ควรปฏิบัติทันที มีการประยุกต์ใช้ในลักษณะการนำการจัดการความเสี่ยงหรือบริหารความเสี่ยงที่มีหลักสากลมาใช้กับสิ่งแวดล้อม และองค์กรเป็นผู้ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดจากการทำกิจกรรมใดขององค์กร

5. ปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง (Fair Operating Practices)

จริยธรรมขององค์กรที่มีต่อภาคีเครีอข่าย คู่ค้า ลูกค้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้าง วางแนวทางในการป้องกันการทุจริตและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงพึงระวังความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหรืออาจเป็นผลจากการทุจริต และออกเป็นกฎเกณฑ์ขององค์กรในเรื่องนี้อย่างชัดเจนนอกจากนี้ การแข่งกันทางการค้าต้องเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ไม่ใช้ข้อได้เปรียบในเชิงทุจริต หรือ การกระทำผิดเพื่อเอาผลประโยชน์ทางการค้า หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการแข่งขันการค้า

6. ประเด็นด้านผู้บริโภค (Consumer Issues)

นำเสนอข้อมูลสินค้าและบริการ ตลอดจนวิธีการที่เป็นประโยชน์ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ต้องไม่ทำการตลาดแบบหลอกลวงหรือใช้คำพูดบิดเบือนจากความจริง ควรคำนึงถึงความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่ายรวมถึงผู้บริโภค ควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้สินค้าหรือบริการเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงการให้ข้อมูลการใช้งาน รวมถึงคู่มือความปลอดภัย และรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นการติชม รวมถึงควรทำให้สินค้าและบริการได้มาตรฐาน

7. การพัฒนาและการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Involvement and Development)

สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วม และผลประโยชน์ร่วมกับชุมชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน คือการเพิ่มมูลค่าให้แก่ทั้งชุมชนและตัวองค์กรควบคู่กันไป โดยสร้างผลกระทบเชิงลบกับชุมชนหรือสังคมน้อยที่สุดและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมหรือชุมชนมากที่สุดอาจเพิ่มงาน, เพิ่มรายได้,มีการฝึกอบรมต่างๆหรือกระทั่งการให้ความสำคัญหรือคำนึงถึงงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชน

     โดยจะเห็นได้ว่าการดำเนินงานตามหัวข้อหลักทั้ง 7 ข้อของมาตรฐาน ISO26000 นั้น เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งในทางตรงและทางอ้อม และการดำเนินงานบางอย่างองค์กรก็ได้มีการดำเนินการอยู่ก่อนแล้วส่วนหนึ่ง เพียงเพิ่มเติมการปฏิบัติตามหลักการให้ถูกต้องและครบถ้วน อย่างโปร่งใสตามหลักจริยธรรม ร่วมทั้งเกิดความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนงานทั้งองค์กร