ประวัติความเป็นมา

            งานบริการทางจักษุวิทยาด้านฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็นได้รับการริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 โดยศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณแพทย์หญิงญาณี เจียมไชยศรี โดยงานในช่วงแรก ส่วนใหญ่เป็นการให้แว่นตาขยายภาพ (high plus lens) ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสายตาเลือนรางสามารถอ่านหนังสือได้  เนื่องจากมีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ  ต่อมาภาควิชาจักษุวิทยา จึงได้พัฒนาและขยายงานบริการด้านนี้และในปี พ.ศ. 2545 ได้จัดตั้ง “คลินิกสายตาเลือนราง” ขึ้น อย่างเป็นทางการ โดยทีมงาน นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงภัทนี สามเสน  อาจารย์นายแพทย์ภารพันธ์ บำรุงสุข  คุณณัชชา จันทร์วราภา  และบุคลากรที่ได้รับอบรมในโครงการช่วยเหลือคนสายตาเลือนรางกับการใช้เครื่องช่วยทางการเห็น ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี และวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยองค์กร Christofel Binden Mission International : CBM  ประเทศเยอรมัน  ร่วมกับการสนับสนุนเครื่องช่วยทางการเห็น จากศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ

           หลังการพัฒนางานต่อมาในระยะเวลากว่าสิบปี  และสอดคล้องกับนโยบายของประเทศที่จะช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็น และนโยบายของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในการพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ และสร้างเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม คลินิกสายตาเลือนราง จึงได้รับการพัฒนาเป็น “ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็นเพื่อการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 จนถึงปัจจุบัน โดยให้บริการครอบคลุมผู้ป่วยหรือผู้พิการทางการเห็นมากขึ้น ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ รวมถึงผู้ที่มี ‘สายตาเลือนราง’ และ ‘ตาบอด’ โดยทีมแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพเพื่อการดูแลผู้ป่วยในทุกองค์ประกอบ