การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายตับ

คำถาม วัคซีนไวรัสโควิด 19 ขณะนี้ในประเทศไทย มีอะไรบ้าง
ตอบ วัคซีนโควิด 19 ขณะนี้ในประเทศไทยมี 3 ชนิด ได้แก่ 
1. Coronavac (Sinovac) ซึ่งเป็นวัคซีนไวรัสชนิดเชื้อตาย (inactivated virus) 
2. ChAdOx1-nCov-19 (Oxford Astrazeneca) เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์ ซึ่งเป็นไวรัสที่ยังมีชีวิตแต่ไม่สามารถแบ่งตัวได้
3. Ad26.COV2.S (Jonson & Johnson) เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์ ซึ่งเป็นไวรัสที่ยังมีชีวิตแต่ไม่สามารถแบ่งตัวได้เช่นเดียวกับวัคซีนจาก Astrazeneca
นอกจากนี้ยังมีวัคซีนระหว่างรอก่อนอนุมัติเพื่อใช้ในประเทศไทยอีกหลายชนิด (ข้อมูลเมื่อวันทึ่ 7 พ.ค. 64)

 

คำถาม ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับ สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้หรือไม่
            ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับ เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน จึงเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด 19 และมีโอกาสการเจ็บป่วยที่รุนแรงร่วมถึงมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหากมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับควรได้รับวัคซีนโควิด 19 แม้ว่าหลักฐานข้อมูลทางวิชาการที่มีอยู่ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพโดยตรงในกลุ่มผู้ป่วยปลูกถ่ายตับ แต่การได้รับวัคซีนโควิด 19 ที่มีอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้สามารถลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตได้แม้ในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับ 
            จากข้อมูลในปัจจุบันวัคซีนไวรัสชนิดเชื้อตาย (Inactivated virus) หรือวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) เป็นชนิดวัคซีนที่สามารถให้ได้ในผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน (ตัวอย่างเช่น วัคซีนรูปแบบฉีดป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนไวรัสชนิดเชื้อตาย) อย่างไรก็ตามวัคซีนกลุ่มไวรัสเวคเตอร์ (Astrazeneca และ Johnson & Johnson) ยังคงเป็นวัคซีนที่ยอมรับให้ใช้ได้ในผู้ป่วยปลูกถ่ายตับ
            อย่างไรก็ตามผู้ป่วยยังต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอย่างเคร่งครัดเช่นเดิม ห้ามลดขนาดยาหรือหยุดยาเอง ศูนย์ปลูกถ่ายฯแนะนำให้ผู้ป่วยปลูกถ่ายตับที่รับการปลูกถ่ายมานานกว่า 1 เดือน รับวัคซีนทุกราย เพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิต โดยสามารถเลือกวัคซีนตามข้อกำหนดของแต่ละวัคซีนเป็นหลักมากกว่าชนิดของวัคซีน


หมายเหตุ    
• Coronava (Sinovac) ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลถึงประสิทธิภาพในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
• วัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์ จากข้อมูลในต่างประเทศแนะนำว่าสามารถให้ได้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านแนะนำให้หลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก เช่นผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันในขนาดสูง
• ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาในปัจจุบันก่อนฉีดวัคซีน


เอกสารอ้างอิง
1. คำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีน COVID-19 ในผู้ที่ได้รับหรือรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย
2. Marjot T, Webb GJ, Barritt AS, Ginès P, Lohse AW, Moon AM, et al. SARS-CoV-2 vaccination in patients with liver disease: responding to the next big question. The Lancet Gastroenterology & Hepatology. 2021;6(3):156-8.
3. AASLD Expert Panel Consensus Statement: Vaccines To Prevent COVID-19 In Patients With Liver Disease. 16 march 2021