เบื้องหลังการรักษาให้ดีขึ้นของศูนย์ความเป็นเลิศ คุยกับ รศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รองผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช

ศูนย์ความเป็นเลิศศิริราชมีแนวคิดในการทำงานอย่างไร ปัจจุบันครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยด้านไหน และมีแผนต่อยอดต่อไปอย่างไร The MATTER ไปหาคำตอบผ่านการพูดคุยกับรศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชที่บริหารและดูแลด้านนี้โดยตรง

ที่มาที่ไปของศูนย์ความเป็นเลิศคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลคืออะไร

ศูนย์ความเป็นเลิศยังมุ่งในเรื่องการเป็นสื่อทางการแพทย์ ให้ความรู้ต้นแบบต่อบุคลากรแพทย์และประชาชน ศูนย์ฯ สามารถให้ความรู้ อบรมและให้ผู้อื่นมาเรียนรู้งานได้

การบูรณาการของศูนย์ฯ เป็นการรวมงานทั้ง 3 พันธกิจอันได้แก่ การบริการที่ดี  งานวิจัย และงานการศึกษาวิชาการที่ดีเข้าด้วยกัน การที่จะทำให้ศูนย์ๆ หนึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้ศูนย์ความเป็นเลิศแบบบูรณาการควรจะมีลักษณะที่เป็นคุณลักษณะพิเศษที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1. ความเป็นเลิศ (Excellence) ในพันธกิจทั้ง 3 ด้าน 2. ความโดดเด่น (Extraordinary) ของศูนย์ฯ เมื่อเปรียบเทียบกับงานในลักษณะเดียวกัน 3. ความสุดขั้ว (Extreme) ของศูนย์ที่มีขีดความสามารถในการให้บริการขั้นสูงสุด ระดับสากล และ 4. ความพุ่งทะยานไปข้างหน้า (Exaurare) ที่บ่งชี้ว่าศูนย์ขับเคลื่อน ปรับตัวในทิศทางที่รวดเร็ว ทันกับยุคสมัย

ปัจจุบันมีศูนย์การรักษาด้านใดบ้างที่อยู่ในศูนย์ความเป็นเลิศแบบบูรณาการ

ศูนย์ความเป็นเลิศในปัจจุบันประกอบด้วย 15 ศูนย์ ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะตับ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง ศูนย์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ศูนย์การรักษารังสีร่วมรักษา ศูนย์รักษาทารกในครรภ์ ศูนย์ธาลัสซีเมีย ศูนย์เบาหวาน ศูนย์โรคลมพิษ ศูนย์โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็นเพื่อการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ศูนย์ดูแลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อของเด็ก ศูนย์การรักษาโรคหัวใจด้วยการสวนหัวใจและผ่าตัดศิริราช และศูนย์โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน

นอกจาก 14 ศูนย์ข้างต้น ศิริราชมีแผนขยายศูนย์ความเป็นเลิศ เพิ่มเติมอีกไหม

การเติบโตของศูนย์ฯ เปรียบเปรยเหมือนกับต้นไม้ หมายถึงว่าต้นไม้แต่ละต้นที่เติบโตในพื้นที่ศิริราชนั้นมีหลากหลายมาก บางต้นเป็นไม้ยืนต้น บางต้นเป็นไม้ดอก แต่ละศูนย์จึงมีบริบทที่ต่างกัน การเติบโตของแต่ละศูนย์จึงไม่สามารถมาเปรียบเทียบกัน แต่เราจะเข้าไปดูว่าศูนย์แต่ละศูนย์มีอะไรดีและต้องมีอะไรเสริมตามระบบการจัดการแบบ Thailand Quality Awards (TQA) ที่ประกอบด้วย การนำองค์กร (Leadership) กลยุทธ์ (Strategy) ลูกค้า (Customers) การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis, and Knowledge Management) บุคลากร (Workforce) การปฏิบัติการ (Operations) และผลลัพธ์ (Results)

ในฐานะที่เป็นหัวเรือของศูนย์ฯ อะไรคือความคาดหวังของคุณที่มีต่อศูนย์ความเป็นเลิศ

ผมต้องการให้แต่ละศูนย์ปรับกระบวนการตามมาตรฐานที่เราตั้งไว้ได้สำเร็จลุล่วง ความคาดหวังในระยะสั้นภายในปีหน้าเราอยากบรรลุศูนย์ความเป็นเลิศแบบบูรณาการศิริราชได้อย่างน้อย 2 ศูนย์ กล่าวคือ ยกระดับ Center of Excellence (COE) 14 ศูนย์ สู่ระดับ Siriraj Integrated Center of Excellence (SiCOE) ในระยะยาวก็คือทุกศูนย์ได้รับการยกระดับขึ้นมาทั้งหมด มีการพัฒนาศูนย์ใหม่ๆ มากขึ้น ระบบใหม่ๆ ของศิริราชได้รับการยอมรับเป็นระดับสากลที่เป็นเลิศจริงๆ เป็นโมเดลต้นแบบที่จะให้ที่อื่นนำไปเป็นต้นแบบ อยากเป็น roadmap ของการดูแลสุขภาพประเทศ อันนี้เป็นความใฝ่ฝันของทีม เราอยากให้ใช้ทรัพยากรทุกอย่างได้อย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นกำลังคน เงินทุน และท้ายที่สุดคนที่จะได้ผลประโยชน์สูงสุดก็คือคนไข้นั่นเอง