ประวัติภาควิชา

 ในปี พ.ศ.2470  มีการถ่ายเลือดให้ผู้ป่วยครั้งแรกในประเทศไทยที่โรงพยาบาลศิริราช จากนั้นจึงได้จัดตั้ง “หน่วยถ่ายเลือด” ขึ้น มีศาสตราจารย์นายแพทย์สรรค์ ศรีเพ็ญ เป็นหัวหน้าหน่วย มีพยาบาลประจำหน่วย 1 คน  เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2489  หน่วยถ่ายเลือดมีหน้า ที่ควบคุมผู้บริจาคเลือดเพื่อไม่ให้เจาะเลือดบ่อยเกินไป และคอยจัดส่งเลือดไปตามหอผู้ป่วยต่าง ๆ   การถ่ายเลือดในสมัยนั้นเป็นแบบ Indirect Blood Transfusion คือ เจาะลงใส่ภาชนะซึ่งมีน้ำยากันเลือดแข็ง (sodium citrate) แล้วนำไปให้ผู้ป่วย การให้เลือดผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดจึงต้องให้ผู้บริจาคเลือดไปนั่งคอยหน้าห้องผ่าตัดและในปีนี้ได้เริ่มทำการสอนนักศึกษาแพทย์  เรื่อง “ การถ่ายเลือด ”

ประมาณกลางปี พ.ศ.2494 หน่วยถ่ายเลือดถูกโอนย้ายมาอยู่กับแผนกศัลยศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน เป็นหัวหน้า และศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์นที รักษ์พลเมือง เป็นผู้อำนวยการหน่วยถ่ายเลือด ได้เริ่มทำน้ำเหลืองมาตรฐานสำหรับใช้ในการตรวจหาหมู่เลือด และในปีนี้จัดตั้งธนาคารเลือดขึ้นเป็นครั้งแรกในโรงพยาบาลศิริราช

ปี พ.ศ.2502 เดือนเมษายน ธนาคารเลือดมีแพทย์ประจำคนแรก คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงทัศน์ยานี  จันทนยิ่งยง ซึ่งเป็นผู้นำความเจริญมาสู่ธนาคารเลือดอย่างรวดเร็ว

ปี พ.ศ.2505    ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงทัศน์ยานี  จันทนยิ่งยง ได้รับการสนับสนุนทุนจากองค์การ China Medical Board, New  York ประเทศสหรัฐอเมริกา  ไปศึกษาดูงานด้านธนาคารเลือด เป็นเวลา 1  ปี

หลังจากกลับมายังได้รับมอบอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับงาน ธนาคารเลือดอีกมากมาย มีบางเครื่องยังคงใช้งานอยู่ทุกวันนี้

ปี พ.ศ.2512  ธนาคารเลือด  มีโครงการ “อุทิศเลือดเพื่อครอบครัว ” ซึ่งเป็น การวางแผนล่วงหน้าสำหรับผู้บริจาคเลือดและครอบครัว  ผู้ที่เป็นสมาชิกถ้าป่วยและรับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช หากจำเป็นต้องใช้เลือดและส่วนประกอบของเลือด ธนาคารเลือดจะจัดหาให้ใช้โดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ ปัจจุบันโครงการนี้ยังมีอยู่

 ปี พ.ศ.2515  ประมาณต้นปี   ได้เริ่มทำการตรวจหาชนิดของเนื้อเยื่อ (Histocompatibility antigen  หรือ Tissue typing) ในงานเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ซี่งได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ ภายในแผนโคลัมโบ และต่อมาในปี พ.ศ. 2516 โรงพยาบาลศิริราชก็เริ่มให้บริการเปลี่ยนไต

ปี พ.ศ.2521 ธนาคารเลือดได้เข้าร่วมศึกษาแอนติเจนระบบ HLA ในระบบภูมิภาคเอเซีย (Asia Oceania Histo- compatibility Workshop) และระบบนานาชาติ ทำให้มีการพัฒนาคุณภาพของ antisera ที่ใช้ตรวจหาแอนติเจนระบบ HLA  ยังคงทำอย่างต่อเนื่อง และก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติจนถึงปัจจุบัน

 

ปี พ.ศ.2528  เป็นปีที่โรงพยาบาลศิริราช ครบ 100 ปี ธนาคารเลือด ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post  ฉบับวันพุธที่ 26 เมษายน 2528 และให้การยกย่องว่า “ SIRIIRAJ BLOOD BANK : ONE OF THE BEST BLOOD BANK IN SOUTHEAST ASIA ” เป็นธนาคารเลือดที่เป็นที่หนึ่งในเอเชียอาคเนย์  จนถึงทุกวันนี้  และได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2528  ว่า  “ ศิริราช ” ให้ความมั่นใจเก็บเลือดเยี่ยมของโลก

ปี พ.ศ.2532   วันที่ 2 สิงหาคม  2532  ได้รับการจัดตั้งและยกฐานะเป็นภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มีศาสตราจารย์เกียติคุณแพทย์หญิงทัศน์ยานี จันทนยิ่งยง เป็นหัวหน้าภาควิชาฯคนแรก  มีรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงศศิธร  เพชรจันทร  เป็นรองหัวหน้าภาควิชาฯ  ชื่อภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด (Department of Transfusion Medicine) ได้รับการตั้งชื่อ โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ภูเก็ต วาจานนท์

ปี พ.ศ.2533  วันที่ 8 มิถุนายน 2533 ได้รับอนุมัติหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การบริการโลหิต (Transfusion Science)  ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว   จำนวน  44 คน 

ปี พ.ศ.2536  ได้ทำการเก็บ Peripheral blood stem cells  สำหรับให้ผู้ป่วยเป็นรายแรก คือ Allogeneic PBSC  เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2532    และในผู้ป่วย Autogeneic PBSC วันที่ 25 ธันวาคม 2532

ปี พ.ศ.2537 วันที่ 25 สิงหาคม 2537 ได้รับอนุมัติหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด ต่อเนื่อง 2 ปี (Transfusion Medicine) ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว จำนวน  291 คน 

      ในอดีตธนาคารเลือดมีสถานที่ทำงานบางหน่วยซึ่งต้องถูกย้ายบ่อยครั้ง จากตึกศาลาศัลยกรรมเก่า มาตึก 72 ปี ตึกอายุรกรรม และตึกปาวา เนื่องจากมีการสร้างตึกใหม่ขึ้นแทน ปัจจุบันภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด มีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ที่ตึก 72 ปี ชั้น 3 (ตะวันตก-ตะวันออก) ได้แก่ ห้องปฏิบัติสาขาต่าง ๆ สำนักงานภาควิชาฯ ห้องประชุมภาควิชาฯ ห้องทำงานหัวหน้าภาควิชาฯ รองหัวหน้าภาควิชาฯ ห้องทำงานอาจารย์แพทย์ ซึ่งสะ ดวกในการบริหารจัดการ ไม่ต้องกระจายอยู่ตามตึกต่าง ๆ เช่นอดีตที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้