การเตรียมเลือดตนเองก่อนผ่าตัด

การเตรียมเลือดตนเองก่อนผ่าตัด

อ.พญ. เจนจิรา  กิตติวรภัทร
ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

บริจาคเลือดเพื่อตนเองก่อนผ่าตัดได้อย่างไร?
         
การเข้ารับการผ่าตัด นับเป็นการรักษาที่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดียกเว้นการรักษาในกรณีฉุกเฉิน ทั้งความพร้อมของผู้ป่วยและทีมแพทย์ ซึ่งการเตรียมเลือดเพื่อใช้ในการผ่าตัดนับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง การบริจาคเลือดที่เจาะจงผู้รับนั้นในปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธีตั้งแต่การบริจาคเลือดตนเองเก็บไว้ก่อน การให้ญาติและ/หรือเพื่อนมาเป็นผู้บริจาคให้ ซึ่งแต่ละวิธีจะมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการบริจาคเลือดสำหรับตนเองก่อนการผ่าตัดหรือทำหัตถการ (Preoperative autologous blood donation) เท่านั้น

เราจะเก็บเลือดตนเองไว้ใช้เมื่อใด
           
การเจาะเก็บเลือดไว้ใช้จะทำต่อเมื่อแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดมีคำสั่งและแพทย์ธนาคารเลือดเห็นชอบ รวมทั้งตัวผู้ป่วยเองให้ความยินยอม ซึ่งมักจะทำในกรณีต่อไปนี้
            1. เป็นการผ่าตัดที่มีเวลาเตรียมผู้ป่วย เนื่องจากต้องให้เวลาในการพักฟื้นหลังการบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 วันก่อนการผ่าตัด

               
2. เป็นการผ่าตัดที่คาดว่าผู้ป่วยจะเสียเลือดมาก มักเป็นการผ่าตัดใหญ่ เช่น การผ่าตัดโรคกระดูกใหญ่ๆ การผ่าตัดหลอดเลือด และการผ่าตัดระบบหัวใจและทรวงอก เป็นต้น
            3. กรณีที่ผู้ป่วยเป็นผู้ที่มีหมู่เลือดหายากหรือไม่สามารถหาผู้บริจาคที่มีเลือดเข้ากันได้

ข้อดีและข้อจำกัดของการใช้เลือดตนเอง
         
การได้รับเลือดนับเป็นการรักษาที่มีทั้งประโยชน์และมีความเสี่ยงที่แม้จะพยายามป้องกันเต็มที่แต่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ การใช้เลือดของตนเองมีข้อดีในการลดความเสี่ยงนั้นๆไปได้บ้าง เช่น ลดโอกาสติดเชื้อบางชนิดได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบทั้งชนิดบีและซี โรคซิฟิลิสและโรคเอดส์ รวมทั้งลดการสร้างสารต่อต้านต่อเลือดผู้อื่น เป็นต้น ส่วนข้อจำกัดของการบริจาคเลือดให้ตนเองนั้น เกณฑ์ในการคัดเลือกผู้บริจาคจะต่างจากการบริจาคเลือดโดยทั่วไป และคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริจาคเป็นหลัก มีเกณฑ์ดังนี้

1. ต้องมีคำสั่งการรักษาจากแพทย์เจ้าของไข้ และผ่านความเห็นชอบของแพทย์ธนาคารเลือด

2. ระดับความเข้มข้นเลือดแดง (Hemoglobin level) 11 กรัม/ดล. หรือ ฮีมาโตคริต 33%

3. กำหนดให้ความถี่ของการบริจาคเลือดแต่ละถุงต้องห่างกันอย่างน้อย 7 วันและการบริจาคครั้งสุดท้ายต้องห่างจากการผ่าตัดหรือหัตถการอย่างน้อย 72 ชั่วโมง

4. หากท่านเป็นโรคที่อาจมีอันตรายจากการเจาะเก็บเลือดเช่น โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด ทางธนาคารเลือดจะคำนึงถึงความปลอดภัยของท่านเป็นหลักจึงต้องงดการบริจาคเลือดครั้งนั้น

5. ผู้ป่วยต้องไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดขณะบริจาคเลือด

6. เกณฑ์อื่นๆพิจารณาตามเกณฑ์คัดเลือกผู้บริจาคเลือดตามปกติ

ข้อควรรู้อื่นๆ ของการบริจาคเลือดให้ตนเอง
         
1. เลือดที่ได้จากการบริจาคทางธนาคารเลือดจะดำเนินการตรวจหมู่เลือดและการติดเชื้อตามขั้นตอนปกติ และจะแจ้งให้แพทย์เจ้าของไข้ทราบหากตรวจพบสิ่งผิดปกติ
            2.
มีการระบุป้ายถุงที่ชัดเจนว่าเป็นการบริจาคเลือดให้ตนเอง และทางธนาคารเลือดจะไม่จ่ายเลือดถุงนี้ให้กับผู้ป่วยคนอื่นในทุกกรณี ถ้าไม่ใช้เลือดถุงนั้นจะถูกทำลายไป
            3. ผู้บริจาคมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงจากการบริจาคเลือดด้วยตนเองเหมือนหรือเสี่ยงมากกว่าผู้บริจาคอื่นๆ ดังนั้นควรปฏิบัติตัวตามข้อกำหนดก่อนการบริจาคเลือดอย่างเคร่งครัด เช่นนอนพักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไป รับประทานอาหารอย่างเพียงพอก่อนการเจาะเก็บเลือด
            4. ในวันที่ท่านมาติดต่อ ทางธนาคารเลือดจะเจาะเลือดปลายนิ้วก่อนเพื่อดูระดับความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง ถ้าพบว่าซีดท่านจะได้รับยาเม็ดธาตุเหล็กไปรับประทานก่อนมาตรวจเพื่อบริจาค ซึ่งหากระดับความเข้มข้นสูงขึ้นมามากกว่า 11 กรัม/เดซิลิตร จะสามารถพิจารณาเจาะเก็บเลือดได้ตามปกติ
            5. การรับประทานยาเม็ดธาตุเหล็ก ให้กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 เวลาหลังรับประทานอาหาร

ผลข้างเคียงจากการกินยาได้แก่ อุจจาระจะเปลี่ยนเป็นสีดำซึ่งไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใด ท่านอาจมีอาการปวดมวนท้อง คลื่นไส้หรืออาเจียนได้ ซึ่งผลข้างเคียงนี้จะหายไปเองเมื่อหยุดรับประทานยา

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด