การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช Siriraj Applied Thai Traditional Medicine
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล Faculty of Medicine Siriraj Hospital Mahidol University
English
คำถามเกี่ยวกับการเรียนการสอน
  • คำถามที่ ๑ แพทย์แผนไทยประยุกต์คืออะไร
     สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นวิชาชีพที่นำศาสตร์การแพทย์แผนไทยมาใช้ในการดูแลสุขภาพ
ผู้ป่วยและประชาชน ประกอบด้วย เวชกรรมแผนไทย เป็นการตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรคตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เภสัชกรรมแผนไทย เป็นการปรุงยาและผลิตยาจากสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค หัตถเวชกรรมแผนไทย เป็นการบำบัดรักษาด้วยการนวดไทยแบบราชสำนัก ผดุงครรภ์แผนไทย เป็นศาสตร์ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ การทำคลอด การดูแลหญิงหลังคลอด และการดูแลทารกแรกเกิด การดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยดังกล่าวนี้ ครอบคลุมทั้ง การป้องกัน การบำบัดรักษาโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ นอกจากต้องมีความรู้ความสามารถทางด้าน การแพทย์แผนไทยแล้วยังต้องมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และความรู้พื้นฐานทางด้าน
การแพทย์แผนปัจจุบันด้วย เพื่อเป็นพื้นฐานในการคัดกรองโรค การสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์
และวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาอื่น การติดตามวิทยาการ รวมทั้งเป็นพื้นฐานในการพัฒนา
การแพทย์แผนไทยให้เป็นที่ยอมรับในคุณภาพมาตรฐาน
  • คำถามที่ ๒ แพทย์แผนไทยประยุกต์เรียนเหมือนหรือแตกต่างกับแพทย์แผนปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร
     แพทย์แผนไทยประยุกต์คือสาขาที่ผู้เรียนต้องศึกษาความรู้ทางด้านการแพทย์แผนไทยเป็นหลัก ในขณะเดียวกันต้องเรียนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการบำบัดรักษา ป้องกัน ฟื้นฟู และสร้างเสริมสุขภาพผู้ป่วยโดยการ
ทำเวชปฏิบัติทางการแพทย์แผนไทย ได้แก่ การตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรคด้วยยาสมุนไพร การนวดไทยแบบราชสำนัก การประคบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร และการดูแลมารดาหลังคลอด ในรายที่ไม่สามารถให้การดูแลรักษาได้ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์จะต้อง
สามารถประเมินความรุนแรงและส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที การปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานวิชาชีพ
การแพทย์แผนไทยประยุกต์ ทั้งนี้ไม่สามารถผ่าตัด ฉีดยา หรือจ่ายยาแผนปัจจุบันได้
  •  คำถามที่ ๓ กลุ่มวิชาการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นวิชาหลักในการประกอบวิชาชีพ
การแพทย์แผนไทยประยุกต์ แต่ละรายวิชามีเนื้อหาสาระสำคัญอย่างไรบ้าง
    วิชาชีพแพทย์แผนไทย จะมีเนื้อหาสาระ ๔ กลุ่ม ดังนี้ ๑. กลุ่มวิชาเวชกรรมแผนไทย มีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้ หลักการสำคัญของการแพทย์แผนไทย หลักการ แนวคิด และสาระสำคัญของตำราหรือคัมภีร์ต่าง ๆ ได้แก่ ตำราเวชศึกษา คัมภีร์วรโยคสาร คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย คัมภีร์โรคนิทาน คัมภีร์ธาตุวิภังค์ คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ คัมภีร์ประถมจินดา คัมภีร์ฉันทศาสตร์ คัมภีร์มหาโชตรัต คัมภีร์ธาตุบรรจบ คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา คัมภีร์ชวดาร คัมภีร์ตักกศิลา คัมภีร์กษัย คัมภีร์มุขโรค คัมภีร์อติสาร คัมภีร์อุทรโรค คัมภีร์สิทธิสาระสงเคราะห์ คัมภีร์มัญชุสารวิเชียร คัมภีร์วิถีกุฏฐโรค คัมภีร์ทิพมาลา คัมภีร์ไพจิตรมหาวงศ์ คัมภีร์อภัยสันตา คัมภีร์สรรพคุณยา และคัมภีร์ที่สำคัญอื่น ๆ การประยุกต์ใช้หลักการ แนวคิด และสาระสำคัญของ
คัมภีร์แพทย์แผนไทยในการซักประวัติ การตรวจร่างกาย วิเคราะห์โรค และการบำบัดรักษาโรค การให้คำแนะนำ การเทียบเคียงโรคตามหลักการแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบัน และการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ๒. กลุ่มวิชาเภสัชกรรมแผนไทย มีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้ วิวัฒนาการของการใช้ยาสมุนไพร จรรยาเภสัชกรรม หลักเภสัช ๔ เภสัชตำรับยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โครงสร้างตำรับยา การวิเคราะห์ตำรับยา การตั้งตำรับยาตามหลักเภสัชกรรมไทย ยาสามัญประจำบ้าน ตัวยาที่มีฤทธิ์แรง ตัวยาที่ใช้แทนกัน น้ำกระสายยา หลักการใช้ยาสมุนไพร วิธีการเตรียมยา การปรุงยา เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตยา หลักเกณฑ์ในการผลิตยาที่ดี การผลิตยาสมุนไพรรูปแบบ ต่าง ๆ การประเมินคุณภาพยา วิธีการบรรจุ วิธีการเก็บและรักษายา เทคนิคการควบคุมคุณภาพ
สมุนไพรและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๓. กลุ่มวิชาหัตถเวชกรรมแผนไทย มีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้ ประวัติการนวดไทย การนวดไทย
แบบต่าง ๆ โดยยึดการนวดไทยแบบราชสำนักเป็นหลัก ศีลธรรมจรรยาในการนวด ระเบียบการนวดไทยแบบราชสำนัก ประโยชน์ ข้อห้ามและข้อควรระวังของการนวด หลักการและวิธี
การนวดพื้นฐานและจุดสัญญาณ การฝึกกำลังนิ้วมือ การแต่งรสมือ สาเหตุ กลไกการเกิด อาการ
และอาการแสดง หลักการตรวจวินิจฉัย การนวดรักษาโรคเบื้องต้น และโรคที่มีความซับซ้อนตามหลัก
ทฤษฎีหัตถเวชกรรม ร่วมกับการใช้ยาสมุนไพร การประคบร้อน การให้คำแนะนำเกี่ยวกับ
อาหารแสลงโรค และท่าบริหาร การวิเคราะห์โรคเทียบเคียงกับแผนปัจจุบัน และการส่งต่อผู้ป่วย ๔. กลุ่มวิชาผดุงครรภ์แผนไทย มีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้ กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา
ของการตั้งครรภ์ การวินิจฉัยการตั้งครรภ์ การดูแลหญิงในระยะตั้งครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนที่มีผลต่อ
การตั้งครรภ์ กลไกการคลอด หลักและวิธีการทำคลอดในรายปกติ หลักการและวิธีการดูแลหญิง
ตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย หลักการดูแลทารกแรกคลอด การให้นมบุตร และการวางแผนครอบครัว
  • คำถามที่ ๔ การนวดไทยแบบราชสำนักคืออะไร
     การนวดไทยเป็นหัตถการทางการแพทย์แผนไทยที่มีมาแต่โบราณ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ผู้นวด
จะใช้มือหรือส่วนต่างๆของร่างกายผู้นวด กด คลึง บีบ ดึง ดัดส่วนของร่างกาย เพื่อช่วยบรรเทา
อาการเจ็บปวดหรือแก้ไขภาวะต่างๆของผู้ป่วย การนวดที่พบเห็นได้ในสังคมไทยมีหลายรูปแบบ ทั้งที่สืบทอดกันแบบพื้นบ้านหรือที่เรียนรู้จาก
โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา การนวดกลุ่มหลังนี้แบ่งได้เป็น ๒ แบบ คือ การนวดไทยแบบเชลยศักดิ์ (Popular type Thai traditional massage) การนวดไทยแบบราชสำนัก (Court-type Thai traditional massage) สำหรับการนวดที่โรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์- ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำการนวดแบบราชสำนักมาสอนในหลักสูตรตั้งแต่
เริ่มโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ โดยอาจารย์ณรงค์สักข์ บุณรัตนหิรัญ แพทย์แผนไทยที่ได้รับ
การถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องการนวดไทยจากหมอหลวงที่เคยปฏิบัติงานในราชสำนัก การนวดไทยแบบราชสำนัก หมายถึง การกระทำต่อร่างกายมนุษย์โดยแพทย์ผู้นวดบำบัดจะใช้
เฉพาะนิ้วมือและมือเท่านั้นตามศาสตร์และศิลป์ที่สืบทอดกันมาจากการแพทย์แผนไทยที่เคย
ปฏิบัติงานในราชสำนัก มีจุดประสงค์เพื่อบำบัดรักษาโรคและฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยมีแบบแผนที่มี
ลักษณะจำเพาะกล่าวคือ แพทย์แผนไทยผู้นวดต้องมีกิริยามารยาทที่สุภาพ เช่น ก่อนลงมือนวด
จะต้องไหว้เพื่อขอโทษผู้ป่วยที่ถูกเนื้อต้องตัว มีการตรวจวินิจฉัยโรคก่อน เช่น วัดความดันโลหิต จับชีพจรที่ข้อมือและหลังเท้าเพื่อตรวจดูลมเบื้องสูงและลมเบื้องต่ำตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เพื่อให้รู้ว่ากำลังเลือดและลมของผู้รับการบำบัด จากนั้นแพทย์ผู้ให้การบำบัดจะใช้เฉพาะนิ้วมือ
และมือกดนวดไปตามแนวเส้นและจุดสัญญาณตามส่วนต่างๆของร่างกาย ใช้ท่าทางและองศาของ
ผู้นวดเพื่อกำหนดทิศทางและขนาดของแรงที่ใช้ในการนวด
  • คำถามที่ ๕ การยกกระดานคืออะไร
     การยกกระดานเป็นการฝึกกำลังนิ้วมืออย่างหนึ่งของผู้เรียน เป็นการฝึกยกตัวเองซึ่งอยู่ในท่า
นั่งขัดสมาธิเพชรกับพื้นให้ลอยสูงขึ้น โดยใช้นิ้วมือทั้งสองข้างกดพื้นในลักษณะโหย่งนิ้วมือ เป็นฐาน
รองรับน้ำหนักตัว ยกตัวให้ลอยเหนือพื้น แล้วนิ่งไว้ให้ได้นานประมาณ ๖๐ วินาที เนื่องจากสมัยก่อน
จะฝึกกันบนพื้นไม้กระดานเป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกการฝึกท่านี้ว่า การยกกระดาน การฝึกกำลังนิ้วมือ
จะช่วยให้แพทย์ผู้นวดบำบัดสามารถบังคับขนาดและทิศทางของแรงได้ตามที่ต้องการ และเหมาะสม
กับผู้รับการบำบัดแต่ละราย
  • คำถามที่ ๖ การเรียนต้องเรียนร่วมกับนักศึกษาคณะใดบ้าง และต้องเรียนกับอาจารย์ใหญ่หรือไม่
     ชั้นปีที่ ๑ เรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา น้องๆจะได้เรียนกับเพื่อนต่างคณะมากมาย ส่วนชั้นปีที่ ๒-๔จะเรียนกับเพื่อนในหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิตเท่านั้น ยกเว้น วิชาพยาธิวิทยาพื้นฐาน ที่จะเรียนร่วมกับนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่นๆ ชั้นปีที่ ๒ น้องๆจะได้เรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในรายวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์
พื้นฐาน – พื้นฐานปรีคลินิก น้องๆจะต้องเรียนรู้และสัมผัสกับอาจารย์ใหญ่ด้วย แต่ไม่ต้องผ่า
ร่างอาจารย์ใหญ่ (dissection)
  • คำถามที่ ๗ ในการเรียนแพทย์แผนไทยประยุกต์มีกิจกรรมการเรียนการสอนอะไรที่ทำร่วมกันกับ
สาขาวิชาชีพอื่นๆบ้าง
    ในการเรียนแพทย์แผนไทยประยุกต์มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับสาขาวิชาชีพอื่นๆมากมาย เช่น การดูแลรักษาควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน การให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยในชุมชนบริเวณใกล้เคียงโรงพยาบาลศิริราช เยี่ยมบ้านผู้ป่วยร่วมกับทีมพยาบาลวิชาชีพ การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย การดูแลมารดาหลังคลอดที่หอผู้ป่วยใน เป็นต้น
  • คำถามที่ ๘ จบมาได้วุฒิการศึกษาอะไร มีคำนำหน้าว่าอะไร
    เมื่อสำเร็จการศึกษา จะได้รับวุฒิปริญญาตรีการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต ชื่อเต็ม การแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต Bachelor of Applied Thai Traditional Medicine ชื่อย่อ พทป.บ.(B.ATM.) คำนำหน้า แพทย์แผนไทยประยุกต์ (พท.ป.)
  • คำถามที่ ๙ เรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง มีงานรองรับมากน้อยแค่ไหน
    เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว นักศึกษาแพทย์แผนไทยประยุกต์ทุกคนจะต้องขอสอบขึ้นทะเบียน
และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จึงจะสามารถประกอบวิชาชีพ
การแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้ สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งแพทย์แผนไทยประยุกต์/แพทย์แผนไทยในสถานพยาบาลทุกระดับ ทั้งสถานบริการของรัฐหรือเอกชน หรือจะเปิดคลินิก
เป็นของตัวเองก็ได้ หากใครที่สนใจงานวิชาการวิจัย ก็สามารถทำงานเป็นอาจารย์ / นักวิชาการ / นักวิจัยทางด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตร
การแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต/แพทย์แผนไทยบัณฑิต หรือหน่วยงานทางราชการ หรือองค์กรเอกชนอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์
หรือสมุนไพร การบริหารจัดการ เป็นต้น
  • คำถามที่ ๑๐ การเรียนแพทย์แผนไทยประยุกต์สามารถนำความรู้ที่ได้ไปช่วยเหลือสังคมได้อย่างไรบ้าง
    การเรียนแพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นอีกศาสตร์หนึ่งในการดูแลผู้ป่วยในระบบสุขภาพทั้งการบำบัดรักษาโรค ป้องกัน ฟื้นฟู ส่งเสริมสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ การแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาติให้ยั่งยืนอยู่คู่กับสังคมไทย และช่วยเผยแพร่ความรู้ด้าน การแพทย์แผนไทยผ่านงานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์ต่างๆอีกทั้งยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนในประเทศลดการใช้และการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีใน ประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดและช่วยสนับสนุนให้เกิดรายได้ของเกษตรกร
Siriraj Applied Thai Traditional Medicine  ตำรา-หนังสือ  ติดต่อหน่วยงานอื่นๆ  การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช  คำถามที่พบบ่อย | FAQ
Eng
ความเป็นเลิศ คุณภาพ ความยั่งยืน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 Webmaster : sirirajthaimed@mahidol.edu สำนักงานสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โทรศัพท์ : 02-4198824-5 โทรสาร : 02-419-8818 Copyright © 2017