พันธกิจของหลักสูตร
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กำหนดพันธกิจของหลักสูตรในการฝึกอบรมแพทย์ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาวิชาทางการแพทย์เฉพาะทางที่ต้องอาศัยความรู้เชิงกว้างและเชิงลึกโดยมีเจตนารมณ์ฝึกอบรมเพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีคุณสมบัติที่สำคัญต่อไปนี้
• มีความรู้ความสามารถในเวชปฏิบัติที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทของสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ โดยเฉพาะการดูแลปัญหาสุขภาพจิตในผู้ป่วยโรคทางกายที่ซับซ้อน หรือ การดูแลผู้ป่วยจิตเวชรับปรึกษา (consul-tation-liaison psychiatry)
• มีความสามารถในการทำงานแบบมืออาชีพ
• สามารถปฏิบัติงานได้ด้วยตนเองอย่างเต็มตัวโดยไม่ต้องมีการกำกับดูแล
• มีความสามารถในการทำงานและปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพหรือเป็นทีมได้
• มีเจตนารมณ์และเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ศึกษาต่อเนื่องและพัฒนาวิชาชีพตลอดชีวิต เข้าร่วมใน กิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง (CME) หรือ การพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง (CPD)
• มีความเอื้ออาทรและใส่ใจในความปลอดภัยเพื่อการแก้ไขปัญหาและการส่งเสริมสุขภาพโดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวม
• มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงานทั้งในวิชาชีพของตนเองและวิชาชีพอื่นๆ รวมทั้งผู้ป่วยและญาติ
• มีความรู้ความสามารถในเวชปฏิบัติทางด้านจิตเวชศาสตร์ที่ตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของชุมชนและสังคมไทย เช่น ตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ เป็นต้น
การฝึกอบรมมีกระบวนการเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้และความชำนาญทั้งด้าน การดูแล รักษา ป้องกัน ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพจิตแก่ผู้ป่วย รวมทั้งครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนร่วมวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และประกอบวิชาชีพด้วยความสุจริตตามมาตรฐานและตามจรรยาบรรณจิตแพทย์ และทันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นอกจากความรู้และทักษะด้านจิตเวชศาสตร์แล้ว จิตแพทย์ที่จบการฝึกอบรมจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะมีความสามารถด้านอื่นๆที่สำคัญ ได้แก่ ความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ความสามารถด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้การสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์ การทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพโดยเป็นผู้นำทางวิชาการ มีความสามารถในการบริหารจัดการ ความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพ กระบวนการคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม ทัศนคติและเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ผู้ร่วมงาน และองค์กรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริการทางจิตเวชศาสตร์
นอกจากนี้ภาควิชาฯยังมีพันธกิจในการส่งเสริมความเป็นอิสระทางวิชาชีพเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถปฏิบัติต่อผู้ป่วยและชุมชนได้อย่างดีที่สุด
|