กลับสู่หน้าหลักรู้จักองค์กรหนังสือในหน่วยงานข่าว ประชาสัมพันธ์ดาวน์โหลด
sitemap
เกี่ยวกับสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น
ด้านการศึกษา
บทความแพทย์
ตารางกิจกรรม
การบริการ
คลินิก LSIC
ข้อเสนอแนะ
lsic by siriray
Site Meter

เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ อาจารย์วัจนินทร์ โรหิตสุข
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล

จากการเปิดประเด็นของเราในเดือนที่แล้วว่าการทำให้เด็กตระหนักถึงคุณค่าของตัวเขาเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและได้ผลที่สุดที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งมีเกราะป้องกันตัวเองจากปัญหาต่างๆ ในเดือนนี้ เราจึงขอสัมภาษณ์อาจารย์วัจนินทร์ต่อ เพื่อให้อาจารย์ช่วยเล่าว่าจากประสบการณ์การให้คำปรึกษากับเด็กและครอบครัว อาจารย์คิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถช่วยให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเองหรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่ามี self esteem ได้

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า self esteem นั้นคืออะไร ก็คือการที่เรารับรู้ถึงคุณค่าที่มีอยู่ในตนเองซึ่งได้มาจากพัฒนาการ 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ทางหนึ่ง มาจากการบอกกล่าวของผู้อื่นที่มีคนบอกเราว่าเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็จะรับรู้สิ่งที่เขาบอกเข้ามาเป็นคุณค่าของตัวเราเอง กับอีกทางหนึ่งคือมาจากการที่เราประมวลและประเมินตัวเองว่าเราเป็นคนอย่างไร ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับสิ่งที่คนอื่นประเมินเราก็ได้ ถ้าการรับรู้ต่อตัวเองจาก 2 ส่วนนี้ออกมาในทางบวก เราจะมีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง รู้สึกพอใจในตนเองว่าตัวเป็นคนดี คนเก่ง มีความสามารถ ฯลฯ แต่ถ้าการรับรู้ต่อตัวเองเป็นไปในทางลบ เราก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดี ไร้ค่า ไม่เป็นที่รัก ไม่มีประโยชน์ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและช่วยกันเสริมสร้างคุณค่านี้ให้กับเด็กของเรา

พ่อแม่มีผลกับ self esteem ของลูกอย่างยิ่ง

ประการแรกอยากให้พ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญของตนเอง ไม่ว่าพ่อแม่จะเป็นใครก็ตาม พ่อแม่ก็คือคนที่เด็กรักมากที่สุดและพยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ ด้วยเหตุนี้ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ใน 3-4 ขวบปีแรกจึงมีอิทธิพลต่อการรับรู้ถึงความมีคุณค่าในตนเองของลูก

ประการที่สอง ทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อตัวเด็กเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการสร้างเสริม self esteem ของลูก ถ้าพ่อแม่เชื่อว่าลูกเก่ง ดีและน่ารัก เด็กจะเชื่อว่าตนเองเป็นอย่างนั้นจริงๆ คำพูดต่างๆ ของพ่อแม่จึงมีความหมายต่อลูกมาก หลายๆ สิ่งที่พ่อแม่คิดและเชื่อจะกลายเป็นสิ่งที่ลูกเชื่อด้วย เหมือนกับพ่อแม่เป็นกระจกเงาสะท้อนให้ลูกเห็นตัวตนของตัวเอง เคยถามเด็กคนหนึ่งว่าหนูคิดว่าหนูเป็นคนอย่างไร เด็กคนนั้นตอบว่าหนูไม่รู้แต่แม่บอกว่าหนูเป็นเด็กดื้อ เด็กซน เด็กขี้เกียจ เห็นได้ชัดเลยว่าคำตอบเหล่านี้คือถ้อยคำที่มีคนพูดกรอกหูเด็กอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เวลาเด็กไม่ทำตามที่พ่อแม่บอก ก็มักจะโดนพ่อแม่ดุว่าเป็นเด็กดื้อ เวลาให้ทำอะไรแล้วไม่ทำ ก็ดุเด็กว่าเป็นเด็กขี้เกียจ เด็กก็พร้อมที่เชื่อและรับเอาคำพูดเหล่านี้มาอธิบายลักษณะของตัวเอง สิ่งที่พ่อแม่พูดไม่ได้มาจากเจตนาร้าย แต่เป็นเพียงแค่อยากสอนเด็กหรืออาจเพียงพลั้งเผลอเมื่อเด็กไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เมื่อถูกตอกย้ำบ่อยๆ เด็กก็จะเกิดการรับรู้และสำนึกในตัวตนว่าเขาเป็นคนอย่างที่พ่อแม่ว่าจริงๆ

เมื่อเรารู้ว่าถ้าพ่อแม่มองเด็กด้วยสายตาอย่างไร เด็กก็มักจะเชื่อว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น คำถามที่เราต้องคิดต่อไปก็คือทำอย่างไรพ่อแม่จึงจะสามารถเป็น positive mirror ให้กับเด็กได้ ให้เด็กได้เห็นเงาสะท้อนของตัวตนที่ดีๆ ของเขา

พ่อแม่จะช่วยสร้างเสริม self-esteem ให้เด็กได้อย่างไร

ถ้าอยากช่วยให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง พ่อแม่ก็ควรปรับความคาดหวังในตัวเด็กให้สอดคล้องกับตัวตนของลูก ใจกว้างพอที่จะยอมรับทั้งข้อดีและข้อเสียของเขา และท้ายสุด ควรมีเวลารับฟังเรื่องของเด็กอย่างตั้งใจและพยายามเข้าใจเขาอย่างแท้จริง

ปรับความคาดหวังในตัวลูก

มองให้เห็นถึงตัวตนหรือเนื้อแท้ของลูกเราจริงๆ พ่อแม่หลายคนมองดูลูกหรือพยายามปั้นลูกอย่างที่ตัวเองอยากให้ลูกเป็น แล้วเมื่อลูกทำไม่ได้ ก็รู้สึกผิดหวัง ทำให้พลาดโอกาสที่จะมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของลูกว่าเขามีดีอะไรบ้างเพราะมัวแต่ไปหมกมุ่นกับความผิดหวังและความต้องการของตัวเอง ในเบื้องต้น พ่อแม่จึงควรเริ่มด้วยการปรับความคาดหวังในตัวลูกโดยการเปิดใจกว้าง มองเห็นเด็กตามความเป็นจริงทั้งในส่วนที่ดีและในส่วนที่ต้องพัฒนา

พ่อแม่ต้องเปิดใจโดยการพยายามมองด้วยสายตาที่เที่ยงตรง เช่น เมื่อลูกชายไม่ชอบเล่นกีฬา แทนที่จะดุว่าเขาอ่อนแอบ้าง ไม่ว่องไว ไม่สมกับเป็นลูกผู้ชายบ้าง ก็พยายามมองให้เห็นส่วนที่ดีของเขาว่าเขาอาจจะเป็นคนสุขุมใจเย็น รับผิดชอบ ชอบงานที่ใช้สมาธิ หรือถ้าเด็กดื้อ ก็พยายามมองให้เห็นว่าการต่อต้านของเขานั้นแสดงว่าเขารู้จักและกล้าที่จะแสดงความต้องการของตัวเองออกมาว่าต่างไปจากคนอื่น อยากให้พ่อแม่มองหาและเห็นลักษณะเฉพาะตัวของเด็ก เห็นความพิเศษของเขา

ถ้าอยากจะช่วยพัฒนาเด็ก พ่อแม่สามารถช่วยเหลือเด็กได้โดยการมองหาข้อเสนอหรือทางออกที่สอดคล้องกับลักษณะของตัวเด็กด้วย เช่น แทนที่จะโกรธลูกว่าดื้อ ก็ให้มองผ่านตัวเด็กและคิดว่าที่เด็กดื้อเป็นเพราะเด็กมีความคิดและมีความเป็นตัวของตัวเอง ลักษณะเด็กแบบนี้มักจะเกิดการต่อต้านทันทีเมื่อรู้สึกว่าถูกบังคับ พ่อแม่จึงน่าจะลองปรับท่าทีโดยการเปิดโอกาสให้เขาเลือกและสามารถตัดสินใจได้เองแทนที่จะเป็นการบอกหรือสั่งให้ทำ โดยการเสนอทางเลือกสองหรือสามทางเพื่อให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้บังคับจิตใจของเขา เขามีอิสระในการเลือก แต่ยังคงอยู่ในขอบเขตที่พ่อแม่เห็นชอบด้วย

ประการต่อมาคือควรให้ความสำคัญกับความพยายามของลูกมากกว่าผลสำเร็จที่ได้รับ พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคาดหวังและยึดติดกับความสำเร็จจนกลายเป็นแรงกดดันต่อตัวเด็กในที่สุด ยิ่งถ้าหากเด็กไม่สามารถทำได้ เขาจะรู้สึกผิดหวัง สูญเสียความมั่นใจ จนลืมมองไปว่าตัวเองนั้นยังมีดีอย่างอื่นอีกมากมายที่ไม่ได้เป็นเรื่องของผลสำเร็จเหล่านี้เพียงอย่างเดียว

ดังนั้น พ่อแม่จึงควรทำให้ลูกตระหนักถึงคุณค่าของความดีงามในตัวเองมากกว่าผลสำเร็จ เพื่อให้เขารู้สึกว่าถึงเขาไม่ใช่คนเก่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนที่ไม่มีค่า อย่างน้อยเขาก็ยังเป็นคนดี รู้จักเสียสละ มีน้ำใจ หรือเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ อดทนและพยายาม ซึ่งเป็นลักษณะที่ควรได้รับการชื่นชมมากกว่า

พ่อแม่ยังช่วยให้ลูกตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองได้โดยการให้รางวัลเมื่อมีเหตุอันควรให้ได้รับ รางวัลที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุสิ่งของ เพียงแค่คำชม ตบบ่าเขาหรือกอดเขาก็พอแล้ว เช่น เมื่อเด็กเก็บของเล่นเองหลังจากเล่นเสร็จ พ่อแม่ก็ควรเอ่ยชมเพื่อให้เขาตระหนักว่าการรู้จักรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ดี หรือเวลาเด็กมีน้ำใจช่วยถือของให้ผู้ใหญ่ เขาก็ควรได้รับคำขอบใจเพื่อให้เขารับรู้ว่าพฤติกรรมแบบนี้ของเขาเป็นสิ่งที่ดี

ดังนั้น หากพ่อแม่บอกลูกว่าอะไรเป็นเรื่องที่ดี และชี้ให้เห็นความดีในพฤติกรรมของเด็ก เด็กก็จะรับรู้และสร้าง self esteem ขึ้นมาทีละน้อย ซึ่งจะช่วยให้เขาเป็นคนที่เข้มแข็งและไม่เอาชีวิตและตัวตนไปยึดติดกับความสำเร็จเพียงอย่างเดียว

ยอมรับทั้งข้อดีและข้อเสียของลูก

ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนถ้ามองดูด้วยใจที่ยุติธรรม ก็จะมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ถ้าพ่อแม่ยอมรับลูกได้ทั้งสองด้าน ลูกก็จะเรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเองได้อย่างที่เป็นและเรียนรู้ที่จะมองเห็นคุณค่าของตัวเองไปพร้อมๆ กับข้อไม่ดีที่ควรแก้ไขปรับปรุง การยอมรับตัวตนของเด็กจึงเป็นพลังสำคัญมากที่จะช่วยให้เด็กเกิดความเข้าใจตัวเองและสามารถนำไปสู่การพัฒนาตัวของเขาเองได้อย่างถูกทาง ที่สำคัญ เมื่อพ่อแม่สามารถยอมรับลูกได้ทั้งสองส่วน ก็จะสามารถคิดหาทางแก้ไขให้เหมาะสมกับเขาด้วย เช่น ถ้าลูกเป็นคนใจร้อน ก็ไม่เอาแต่ตำหนิความใจร้อนของเขา แต่หาทางฝึกให้เขาเรียนรู้ที่จะรู้จักการรอคอยและการควบคุมอารมณ์

ให้เวลากับลูก

ในสังคมปัจจุบัน พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาว่างเป็นของตนเอง ต้องวุ่นวายกับภาระความรับผิดชอบทั้งในเรื่องการงานและครอบครัว จึงคาดหวังและผลักดันให้ลูกจัดการกับชีวิตประจำวัน (ทานข้าว อาบน้ำ แต่งตัว ฯลฯ) ตามตารางเวลาที่พ่อแม่ต้องการ ทำให้ไม่มีเวลาที่จะพูดคุยร่วมกันอย่างสบายใจ ดังนั้น เวลาที่มีคุณภาพระหว่างพ่อแม่ลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็น เวลาคุณภาพไม่ได้หมายความถึงการที่พ่อแม่ลูกต่างคนต่างทำงานในห้องเดียวกัน แต่หมายถึงเวลาที่พ่อแม่ลูกมีปฏิสัมพันธ์พูดคุยแบ่งปันความสุขและทุกข์ร่วมกัน เช่น การพูดคุยกันเรื่องต่างๆ ในขณะทานข้าว การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เช่น การตัดหญ้าที่สนามหน้าบ้าน

การรับฟังก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการให้เวลากับลูก ฟังเพื่อให้เข้าใจและได้ยินถึงความรู้สึก เช่น เวลาลูกเล่าให้ฟังว่าโดนครูตี พ่อแม่มักจะถามว่า "ไปทำอะไรมาล่ะถึงโดนครูตี" ลูกก็อาจจะรู้สึกทันทีว่าพ่อแม่กำลังเป็นพวกเดียวกับครูกลายๆ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น "โดนตีเจ็บมากมั้ยลูก" ลูกจะรู้สึกได้เลยว่าพ่อแม่อยู่ข้างเขา ซึ่งจะทำให้เขารับรู้ว่าพ่อแม่รักเขา ห่วงใยและสนใจในความรู้สึกและอารมณ์เขามากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับเนื้อหา

สรุปว่าอยากให้พ่อแม่ตระหนักว่าพ่อแม่นั่นแหละสำคัญที่สุดในการสร้างตัวตนและ self esteem ของลูก

เราสามารถจะสร้างเสริม Self esteem ของตัวเองได้อย่างไร

ถ้าเราอยากปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อตัวตนของเรา เราก็อาจช่วยเหลือตัวเองได้โดยการเริ่มต้นจากการปรับใจยอมรับความเป็นจริงของชีวิตว่าไม่มีใครดีเลิศหรือสมบูรณ์แบบไปทุกเรื่อง ทุกคนต่างล้วนมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย เมื่อไม่คาดหวังให้ตัวเองต้องดีเลิศ (perfect) ก็จะทำให้เราสามารถยอมรับตัวตนของเราได้ทั้ง 2 ส่วน แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เราคาดหวังว่าตนเองต้องดีให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ พอเราทำผิดพลาด มีคนอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์ แทนที่เราจะคิดว่าเขาติในเรื่องงานของเราเท่านั้น เรากลับคิดโยงไปถึงตัวตนของเรา ทำให้เรารู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตนเองและอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีไร้ค่า

ถ้าเรามีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตนเอง เราจะพยายามปิดกั้นตัวเอง ไม่อยากไปมีความสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ถ้าต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น เราก็จะกลายเป็นคนที่ต้องคอยทำตามที่คนอื่นบอกเพราะกลัวจะไม่เป็นที่ยอมรับ เวลามีปัญหาหรือทุกข์ใจก็จะไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากใครเพราะกลัวคนอื่นจะว่า จนในที่สุดก็กลายเป็นคนที่รับฟังคำตำหนิติเตียนจากคนอื่นไม่เป็น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไม่มี self esteem ที่มั่นคงเข้มแข็งพอนั่นเอง

อีกเทคนิคหนึ่งก็คือ การปรับวิธีคิดใหม่โดยการมองด้านดีของข้อบกพร่องและปัญหาต่างๆ (Positive thinking) เพื่อช่วยให้เรามองเห็นด้านบวกของสิ่งที่เป็นปัญหาเหล่านั้น เรื่องนี้เวลาพูดฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่เวลาเรามีความทุกข์แล้ว การทำใจให้ยอมรับและมองให้เป็นด้านบวกนั้นยากมาก เราจึงควรฝึกใจตนเองให้เรียนรู้การมองโลกแบบ positive thinking บ่อยๆ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับวิธีการคิดแบบนี้ เช่น ฝนตก แทนที่จะคิดว่าเฉอะแฉะ ก็มองเห็นข้อดีที่ทำให้อากาศเย็นสบาย หรือถ้ารถติด แทนที่จะคิดว่าน่าเบื่อเสียเวลา คิดให้เห็นข้อดีว่าทำให้เรามีเวลาหลับในรถเมล์ หรือเป็นโอกาสที่ครอบครัวมีเวลาได้พูดคุยกันในรถมากขึ้น เป็นต้น

เมื่อเราชำนาญในการหาข้อดีของข้อบกพร่องหรือปัญหาต่างๆ เราก็มักจะมองเห็นข้อดีของตัวเองได้ไม่ยากจนเกินไป เมื่อหาได้ว่าตนเองมีดีอะไร นั่นก็คือบันไดขั้นแรกของการเสริมสร้าง self esteem ให้ตัวเองอย่ายอมให้ตัวเองต้องรู้สึกเจ็บปวดตลอดไปจากการมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเองเลยนะคะ

<<กลับด้านบน>>

 
fear
hearing
addic_comp
addic_game
 
adhd
learn
mood
vision