ชิคุนกุนยา (Chikungunya)

ชิคุนกุนยา (Chikungunya)

รศ.นพ.วินัย  รัตนสุวรรณ 
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

โรคติดเชื้อชิคุนกุนยา เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ ชิคุนกุนยาไวรัส ติดต่อมาสู่คนโดยการถูกยุงลายกัด โดย (ยุงลายเป็นพาหะที่นำโรคมาสู่คน 2 โรคที่สำคัญ คือ โรคไข้เลือดออก และ โรคติดเชื้อชิคุนกุนยา) ระยะฟักตัวของโรคติดเชื้อชิคุนกุนยา คือ 2 – 5 วัน

โรคชิคุนกุนยา แตกต่างจากไข้เลือดออกอย่างไร

             1. โรคชิคุนกุนยา จะไม่มีเกร็ดเลือดต่ำอย่างมากจนมีเลือดออกรุนแรงอย่างโรคไข้เลือดออก
             2. โรคชิคุนกุนยา จะไม่มีผนังเส้นเลือดฝอยผิดปกติอย่างมากจนมีสารน้ำรั่วจากเส้นเลือดอย่างรุนแรง จนความดันโลหิตต่ำ จนช็อค อย่างโรคไข้เลือดออก
            
3. โรคชิคุนกุนยา จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างโรคไข้เลือดออก แต่อาจปวดตามข้อทรมาน หลายเดือนได้

เมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อชิคุนกุนยาไวรัส กัด จะมีระยะฟักตัวของโรค 2 – 5 วัน และเมื่อครบระยะฟักตัว ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงเริ่มจาก ...
          - มีไข้สูง
อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 วัน หลังจากนั้น ไข้จะลงอย่างรวดเร็ว
          - ผิวหนังจะมีสีแดงเพิ่มขึ้น
เนื่องจากเส้นเลือดฝอยในชั้นผิวหนังมีการขยายตัว
          - มีผื่นแดงเล็กๆ ตามตัว
หรือบางครั้งอาจมีผื่นแดงเล็ก ๆ ตามแขนขาได้
          - มีอาการปวดตามข้อ และมักมีอาการปวดหลายข้อพร้อมกัน

นอกจากนั้น อาจมีอาการป่วยซึ่งไม่ใช่อาการเฉพาะของการติดเชื้อชิคุนกุนยา เช่น ปวดศีรษะ เยื่อบุตาแดง รวมทั้งอาการอื่น ๆ เช่น อาการปวดข้อ ปวดศีรษะ นอนไม่ค่อยหลับ

อาการเหล่านี้ อาจคงอยู่ยาวนานในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน ส่วนอาการปวดข้อ มักจะเป็นอยู่นาน บางรายอาจนานถึง 2 ปี

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคชิคุนกุนยา
         
การวินิจฉัยที่ดีที่สุด คือ จะต้องมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย ซึ่งมีหลายวิธี เช่น
            1. การเพาะเชื้อไวรัสจากเลือดผู้ป่วย โดยที่แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วย ส่งเพาะหาเชื้อไวรัส หากเพาะได้เชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยา ก็จะวินิจฉัยได้แน่นอน แต่เนื่องจากโอกาสเพาะเชื้อได้ต่ำ จึงไม่นิยมทำ
          2. การตรวจโดยใช้วิธี
PCR จากเลือดผู้ป่วย โดยที่แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วย ส่งให้ห้องปฏิบัติการ ใช้วิธี PCR เพื่อตรวจหาชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยา
            3. การตรวจซีโรโลยี่ จากเลือดผู้ป่วย โดยที่แพทย์จะจะเจาะเลือดผู้ป่วย ส่งให้ห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาโปรตีนของร่างกายที่มีการสร้างขึ้น หลังจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยา และโปรตีนนั้นเป็นโปรตีนที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยา

ห่างไกลจากโรคนี้ได้โดย...
         
ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด เป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด ทำได้โดย นอนกางมุ้ง หรือ นอนในห้องมีมุ้งลวด นอกจากนี้ การใส่เสื้อแขนยาว ใช้ยาทากันยุง จะช่วยป้องกันการถูกยุงกัดได้ดี หรือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น กำจัดหลุมบ่อที่อาจมีน้ำขัง และเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง

ถ้าเป็นโรคชิคุนกุนยาแล้ว รักษาอย่างไร
         
เนื่องจากไม่มียาเฉพาะสำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อชิคุนกุนยา การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เพื่อลดอาการของผู้ป่วย เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด เพื่อลดไข้ ลดอาการปวดตามข้อ ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่อาการปวดข้ออาจคงอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยได้

          เนื่องจากยุงลายสามารถนำโรคได้ทั้ง ไข้เลือดออก และ โรคชิคุนกุนยา ดังนั้น การดูแลตนเอง เพื่อให้พ้นจากการถูกยุงลายกัดก็จะช่วยป้องกันการป่วยได้ทั้งไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อชิคุนกุนยา 
          การนอนในมุ้ง การอยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด การใช้ยาทากันยุง การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงภายในบ้านและรอบบ้าน เป็นมาตรการที่สำคัญในการป้องกันโรคที่นำพาโดยยุงครับ

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด