ระวัง! โรคพิษสุนัขบ้า
ระวัง!โรคพิษสุนัขบ้า
รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ข่าวฮือฮา โรคพิษสุนัขบ้าที่คร่าชีวิตข้าราชการหญิงกระทรวงสาธารณสุข เจ้าของร้านขายสุนัขแถวจตุจักรด้วยความประมาทในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เพราะเชื่อมั่นฉีดวัคซีนกันบ้าให้สุนัขเองกับมือ ได้สร้างความหวาดผวาให้กับผู้รักสุนัขทั้งหลาย วันนี้เรามีความรู้มาฝากครับ
รู้จักโรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากไวรัสเรบี่ส์(Rabies virus)เป็นโรคที่อยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ควาย สุกร ลิง ค่าง ชะนี รวมทั้งค้างคาวด้วย เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้หากผู้นั้นได้รับเชื้อเข้าไป เชื้อไวรัสจะออกมากับน้ำลายสัตว์ที่ป่วยหรือมีเชื้อนี้ก่อนป่วย คนมักได้รับเชื้อเนื่องจากถูกสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้ากัด เชื้อในน้ำลายสัตว์จะเข้าสู่บาดแผล นอกจากสัตว์กัดแล้วคนยังอาจได้รับเชื้อจากสัตว์ที่มีเชื้อนี้มาข่วน ซึ่งบนเล็บของสัตว์เหล่านี้ มักเปื้อนน้ำลายสัตว์ที่อาจเลียเล็บตัวเอง หรือแม้แต่สัตว์ที่มาเลียคน คนนั้นก็อาจติดโรคนี้ได้หากผิวหนังบริเวณที่ถูกเลียมีบาดแผลหรือรอยถลอก และแม้ไม่มีแผลแต่หากสัตว์มาเลียบริเวณปาก/จมูก/ตา คนนั้นก็อาจได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าได้
ระยะฟักตัว โดยเฉลี่ย 2-8สัปดาห์อาจจะสั้นหรือยาวกว่านี้ได้ เคยมีรายงานระยะฟักตัวเป็นปี ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็นทางเข้าของเชื้อ เช่น ถ้าถูกสัตว์กัดบริเวณใบหน้า ระยะฟักตัวจะสั้นเนื่องจากอยู่ใกล้สมอง หรือบริเวณที่มีปลายประสาทมาก ๆ เช่น มือ เป็นต้น
อาการของโรค หลังจากผ่านระยะฟักตัวจนเชื้อเดินทางถึงสมอง ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว คันหรือปวดบริเวณที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลนั้นอาจหายเป็นปกติแล้ว อาการของโรคพิษสุนัขบ้า แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.แบบคลุ้มคลั่ง โดยเฉลี่ยจะเสียชีวิตภายใน 5 วัน ผู้ป่วยจะกระวนกระวาย ตื่นเต้นต่อสิ่งเร้าได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นแสง เสียง หรือลม อาการจะรุนแรงขึ้นจนอาละวาด กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง ขณะพยายามกลืนอาหารหรือน้ำ ทำให้เกิดอาการเหมือนกลัวน้ำ ต่อมาจะเพ้อคลั่ง ชัก หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
2.แบบอัมพาต ผู้ป่วยบางรายไวรัสทำลายสมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อ ทำให้แขนขาอ่อนแรงเป็นอัมพาต ปัจจุบันยังไม่มียารักษา หากปล่อยจนไวรัสเดินทางถึงสมองและแสดงอาการออกมา ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าใช้เวลาเดินทางจากบริเวณบาดแผลไปยังสมองหลายวันอาจเป็นเดือน ดังนั้นจึงมีเวลาเพียงพอที่จะใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดให้กับผู้ป่วยที่ถูกสุนัขกัดและมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้มีภูมิต้านทานเกิดขึ้นก่อนเชื้อจะเดินทางไปถึงสมองและก่ออาการ ดังนั้นโรคพิษสุนัขบ้าแม้ถูกสุนัขกัดแล้ว ถึงแม้ยังไม่มียารักษาแต่มีวัคซีนป้องกันที่ได้ผลดี หากได้รับวัคซีนถูกต้องทันเวลาก็สามารถรอดชีวิตได้
การฉีดวัคซีน
จะต้องฉีดให้ครบชุด มี 5 เข็ม โดยฉีดเข็มที่ 1 ในวันแรก/ฉีดเข็ม 2 ในวันที่ 3 หลังฉีดเข็มที่1/ฉีดเข็ม 3 ในวันที่ 7 หลังฉีดเข็มที่ 1/ฉีดเข็ม 4 ในวันที่ 14 หลังฉีดเข็มที่ 1 และเข็ม 5 ในวันที่ 30 หลังฉีดเข็มที่ 1
หลักการให้วัคซีน
1. หากถูกสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติกัด ให้เริ่มฉีดวัคซีนทันที
2. หากถูกสัตว์ที่เคยฉีดวัคซีนประจำกัด และสัตว์มีอาการป่วย ให้เริ่มฉีดวัคซีนทันที และหากสัตว์เสียชีวิต ให้นำสัตว์ไปตรวจเชื้อพิษสุนัขบ้า อย่าเพิกเฉย หากไม่สามารถนำซากสัตว์ไปตรวจได้ ให้ฉีดวัคซีนจนครบชุด 5 เข็ม
3. หากถูกสัตว์ที่เคยฉีดวัคซีนประจำกัด โดยมีสาเหตุ เช่น ไปแหย่ ไปเหยียบ หรือแย่งของ แต่สัตว์ยังปกติให้สังเกตสุนัขหรือสัตว์นั้นต่อไป 10 วัน หากสัตว์สบายดีก็ไม่ต้องฉีดวัคซีน
ทำได้ตามนี้ แม้ถูกกัดก็ปลอดภัยครับ