รับมือ...ภาวะสมองเสื่อม

รับมือ...ภาวะสมองเสื่อม

รศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ปัจจุบันมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ดูแลต้องรับหน้าที่หนักหลายด้าน เพราะเหตุใด  มาหาคำตอบพร้อม ๆ กันครับ

            ภาวะสมองเสื่อม เป็นภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำไม่ได้ เป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ที่เป็นมีอาการหลงลืม การใช้ภาษาผิดปกติ และพฤติกรรมรวมถึงอารมณ์เปลี่ยนไป

สาเหตุของโรคสมองเสื่อม
            เกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งที่แก้ไขได้และไม่ได้  เช่น โรคอัลไซเมอร์  โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน ขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน  เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว ขาดวิตามิน หรือจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิส และเอดส์ เป็นต้น แต่โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉลี่ยผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะอยู่ได้นาน 8 -10 ปี

อาการเริ่มแรก
            อาการเริ่มแรก มักเป็นการลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ๆ ไม่นาน ในขณะที่ความจำเรื่องเก่าๆ ในอดีตจะยังดีอยู่ ผู้ป่วยอาจถามซ้ำเรื่องที่เพิ่งบอกไป หรือพูดซ้ำเรื่องที่เพิ่งเล่าให้ฟัง  นอกจากนั้นยังอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น วางของแล้วลืม ทำอะไรที่เคยทำประจำไม่ได้ สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ หลงทิศทาง นึกคำพูดไม่ค่อยออก หรือใช้คำผิด ๆ แทน  มีอารมณ์  พฤติกรรมและบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การตัดสินใจแย่ลง ไม่สามารถมีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ได้  ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้จะค่อยเริ่มเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานและกิจวัตรประจำวัน ซึ่งการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้เร็วหรือช้า ขึ้นกับระดับความสามารถเดิม การศึกษา  และหน้าที่เดิมของผู้ป่วย รวมถึงความช่างสังเกตและเอาใจใส่ของญาติด้วย


สาเหตุโรคอัลไซเมอร์
            สาเหตุที่ชัดเจนนั้นยังไม่แน่ชัด  รู้แต่ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสมองขึ้น จนทำให้สมองทำหน้าที่ลดลงและเหี่ยวไป ที่แน่ ๆ ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ แต่อาจมีการถ่ายทอดในครอบครัวทางกรรมพันธุ์ได้ในผู้ป่วยส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะไม่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์  ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ อายุที่มากขึ้น โดยจะพบมากขึ้นสองเท่าทุก5 ปี ที่อายุมากกว่า 60 ปี  คือ ร้อยละ1 ตอนอายุ 60 ปี เป็นร้อยละ 2 ตอน 65 ปี  เพิ่มจนเป็นร้อยละ32 ตอน 85 ปี  และเนื่องจากปัจจุบันนี้คนเราอายุยืนขึ้น โรคนี้จึงพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นปัญหาที่สำคัญของทุกประเทศ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวินิจฉัยโรคนี้ให้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเพื่อชะลอการดำเนินโรค ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการศึกษาถึงวิธีต่างๆ ในการป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ แต่ยังไม่ได้ผลชัดเจน

การวินิจฉัย
            เมื่อมาพบแพทย์และสงสัยว่าจะเป็นโรคสมองเสื่อม  แพทย์จะดำเนินการตรวจวินิจฉัยโรคดังนี้
            1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย  เพื่อต้องการรายละเอียดของอาการผู้ป่วย โดยทั่วไปผู้ป่วยมักให้ประวัติไม่ได้ เนื่องจากอาการหลงลืม จึงควรมีญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยที่อยู่กับผู้ป่วยมานาน  และทราบรายละเอียดอย่างดีมาร่วมในการซักประวัติด้วย 
            2. ตรวจเบื้องต้นว่ามีอาการซึมเศร้าหรือไม่
            3. ทดสอบความจำ
            4. ตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้ความจำไม่ดี  เช่น ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยลง  เกลือแร่ผิดปกติ  การขาดสารอาหารบางอย่าง และโรคซิฟิลิส เป็นต้น
            5. อาจตรวจเอกซเรย์สมอง อาจเป็นเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

การรักษา
            การรักษาภาวะสมองเสื่อมขึ้นกับสาเหตุ สำหรับโรคอัลไซเมอร์ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด แต่ยาบางตัวอาจช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้  โดยทั่วไปแบ่งการรักษาออกเป็น
            1. รักษาสาเหตุที่ตรวจพบ  เช่น  ถ้าเกิดจากเนื้องอกหรือโพรงน้ำในสมองขยายตัว อาจต้องผ่าตัดสมอง  ถ้าเกิดจากขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน ก็รับประทานยาทดแทน เป็นต้น
            2. รักษาเรื่องความจำเสื่อม  ยากลุ่ม cholinesterase inhibitors สามารถชะลออาการของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมบางชนิดได้ ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้ในผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรก ๆ แต่ยานี้ไม่ได้ทำให้โรคนี้หายขาด  เพียงชะลอการดำเนินโรคไม่ให้เปลี่ยนแปลงเร็ว  
            3. รักษาปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมจากโรค ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มักมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมต่างๆ ด้วย เช่น เอะอะวุ่นวาย เห็นภาพหลอน  ไม่ร่วมมือกับญาติในการดูแล เป็นต้น การแก้ไขปัญหานี้ต้องใช้การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแล  ในบางรายที่ไม่ได้ผลอาจต้องใช้ยาเพื่อลดอาการ
            4. ผู้ดูแลผู้ป่วย  เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีผลต่อสุขภาพกายและใจของผู้ดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ยิ่งผู้ดูแลเป็นบุตรหลานหรือญาติด้วยแล้ว จะยิ่งเกิดความเครียด รู้สึกห่อเหี่ยวและทุกข์ใจมากกว่าผู้ดูแลทั่วไป ฉะนั้นหากผู้ดูแลเหล่านี้ได้รับความรู้เกี่ยวกับโรค การดูแลตลอดจนแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีช่วงพักเพื่อคลายเครียดให้กับตนเอง  ซึ่งอาจพบปะพูดคุยกับผู้อื่น หรือโทรศัพท์ขอคำแนะนำจากทีมแพทย์และพยาบาล  และตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะช่วยให้ผู้ดูแลลดความเครียดและความทุกข์ลงได้มาก 

วิธีป้องกันความจำเสื่อม
            ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อมนี้    อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตัวบางอย่างอาจช่วยให้สมองมีความจำที่ดีได้ 
            1. หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้าจัด การรับประทานยาโดยไม่จำเป็น
            2. การฝึกฝนสมอง ได้แก่ การพยายามฝึกให้สมองได้คิดบ่อย ๆ  เช่น อ่านหนังสือ  เขียนหนังสือบ่อยๆ คิดเลข  เล่นเกมส์ตอบปัญหา  ฝึกหัดการใช้อุปกรณ์ ใหม่ ๆ  เป็นต้น
             3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 - 5 ครั้ง  เช่น  เดินเล่น รำมวยจีน  เป็นต้น
                        4. การพูดคุย พบปะผู้อื่นบ่อยๆ  เช่น  ไปวัด  ไปงานเลี้ยงต่าง ๆ  หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
            5. ตรวจสุขภาพประจำปี หรือถ้ามีโรคประจำตัวก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ  เช่น  การตรวจหา ดูแล และรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
            6. ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุต่อสมอง ระวังการหกล้ม เป็นต้น
            7. พยายามมีสติในสิ่งต่างๆ ที่กำลังทำและ ฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลา
            8. พยายามไม่คิดมาก ไม่เครียด หากิจกรรมต่าง ๆ  ทำเพื่อคลายเครียด  เนื่องจากความเครียดและอาการซึมเศร้าอาจทำให้จำอะไรได้ไม่ดี

                  *ลองนำไปปฏิบัติดูนะครับ   จะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น*


 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด