ปัจจัยเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมและการป้องกัน (ตอนที่ 1)
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมและการป้องกัน (ตอนที่ 1)
รศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ในปัจจุบันนี้ภาวะสมองเสื่อมเป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้น เนื่องจากประชากรมีอายุขัยยืนยาวขึ้นทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยอายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยในปัจจุบัน คือ 72 ปี โดยผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ย 68 ปี และผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ย 75 ปี และพบอุบัติการณ์ของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุร้อยละ 2-9.88 โดยอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นตามอายุขัย และ 2 โรคที่เป็นสาเหตุหลักที่สำคัญได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ และภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประมาณการไว้ว่ามีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม 18 ล้านคนในทวีปยุโรป แอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา และในปี พ.ศ. 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 29 ล้านคน มีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าในปี พ.ศ. 2540 มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ 2.32 ล้านคนและคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าในอีก 50 ปีข้างหน้า แต่ถ้ามีวิธีการที่สามารถชะลอการเกิดโรคได้ 2 ปี จะมีผู้ป่วยลดลงได้ 2 ล้านคน ถ้าชะลอได้ 1 ปี จะลดลงได้ 800,000 คน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าหากสามารถป้องกันโรคสมองเสื่อมได้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมและการป้องกัน
ปัจจุบันพบว่าโรคอัลไซเมอร์มีส่วนที่เกิดจากโรคของหลอดเลือด และพบว่าผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมส่วนหนึ่งเกิดจากสาเหตุร่วมกันระหว่างโรคอัลไซเมอร์และโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองนอกจากสามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองโดยตรงแล้ว ยังมีผลในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม มีดังนี้
1. น้ำหนักตัวเกิน ดรรชนีมวลกาย (BMI: body mass index ได้มาจากการนำน้ำหนักตัวที่มีหน่วยเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงที่มีหน่วยเป็นเมตรสองครั้ง) ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมในอนาคต คือ 20-22.5 โดยเฉพาะถ้ามากกว่า 25 ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามดรรชนีมวลกาย
2. การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เพิ่มอุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดสมองถึง 2 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม 2.28 เท่า การงดสูบบุหรี่ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปจะลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลงได้เท่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ คือลดลงร้อยละ 50
3. อัลกอฮอล์ การดื่มอัลกอฮอล์ขนาดน้อยๆ ในปริมาณไม่เกิน 3 แก้วต่อวัน สามารถลดโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ร้อยละ 42 และลดโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองได้ร้อยละ 71 โดยไม่ขึ้นกับชนิดของอัลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามบางการศึกษาของพบว่าชนิดของอัลกอฮอล์ที่สามารถลดโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้คือไวน์เท่านั้น แต่การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นพบว่าการดื่มอัลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง ผลกระทบของอัลกอฮอล์ต่อร่างกายไม่ควรพิจารณาเฉพาะเรื่องภาวะสมองเสื่อมเท่านั้น เนื่องจากอัลกอฮอล์ยังมีผลต่อระบบต่างของร่างกาย ผู้ป่วยที่ดื่มอัลกอฮอล์ที่มีปัญหาเรื่องภาวะสมองเสื่อม ยังอาจเกิดจากการขาดสารอาหาร อุบัติเหตุต่อสมอง และอื่นๆ ได้อีก
4. สารอาหาร การรับประทานวิตะมินซีและวิตะมินอีที่เพิ่มขึ้นจะมีอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่จะยิ่งมีอัตราการลดสูงขึ้น สารอาหารที่สำคัญตัวอื่นได้แก่ กรดโฟลิกและวิตะมินบีสิบสอง สำหรับการขาดวิตะมินซีและวิตะมินบีสิบสอง มักไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่มักได้รับเพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หรือมีไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม การรับประทานไขมันจากพืชและโอเมก้า6 (กรดไลโนเลอิก) ซึ่งพบมากในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันจากดอกทานตะวัน ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดฟักทอง ถั่วเหลือง เป็นต้น ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ การรับประทานปลาทะเลอาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยลดความเสี่ยงลงเหลือ 0.4 และ 0.3 เท่าตามลำดับ
5. การขาดการออกกำลังกาย มีการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ที่ออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป ในวัยกลางคนลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ร้อยละ 52 และ 62 ตามลำดับเมื่ออยู่ในวัยสูงอายุ
6. ความดันโลหิตสูง ในแต่ละช่วงความดันซิสโตลิกที่เพิ่มขึ้นทุก 10 มิลลิเมตรปรอทความเสี่ยงของการเกิดปัญหาการลดลงของความสามารถของสมอง สูงขึ้นร้อยละ 7 การที่มีความดันโลหิตสูงในวัยกลางคนเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมในวัยสูงอายุ โดยถ้าได้รับการรักษาโอกาสเสี่ยงนี้จะลดลงจาก 4.3 เท่าเป็น 1.9 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีความดันโลหิตสูง โดยความดันโลหิตสูงมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการลดลงของความสามารถของสมอง ทางตรงคือ ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงจะมีการลดลงของปริมาตรสมอง น้ำหนักสมอง และพบมีการเพิ่มขึ้นของรอยโรคชนิดที่พบในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ สำหรับผลทางอ้อมเกิดจากการที่เกิดหลอดเลือดตีบแข็งและเกิดโรคหลอดเลือดสมองจากการที่มีความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน
7. โรคเบาหวานและภาวะดื้อต่ออินซูลิน เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง พบว่าอุบัติการณ์ภาวะสมองเสื่อมสูงขึ้น 2 เท่าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
8. ภาวะไขมันในเลือดสูง การที่มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น นอกจากนั้นการที่มีไขมันในเลือดสูงยังมีอาจทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย
9. โรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่างๆ มีโอกาสทำเกิดหลอดเลือดสมองอุดตันจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหัวใจ
10. ระดับโฮโมซีสเตอีนที่สูง (Hyperhomocysteinemia) ผลกระทบต่อสมองจากการที่มีระดับโฮโมซีสเตอีนเพิ่มขึ้นเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ จากการเกิดพิษต่อเซลล์สมองและจากการที่มีผลเสียต่อหลอดเลือดสมอง การเปลี่ยนแปลงของโฮโมซีสเตอีนในร่างกายเราเกิดขึ้น 2 วิธี โดยต้องอาศัยวิตะมินบีหก วิตะมินบีสิบสองและกรดโฟลิกเป็นตัวช่วย การขาดวิตะมินเหล่านี้จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของโฮโมซีสเตอีน
11. ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน ในปัจจุบันพบว่าฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ การอุดตันหลอดเลือดดำ แม้ว่าจะมีผลดีกับเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และการเกิดกระดูกหัก นอกจากนั้นยังพบอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น และผู้ป่วยที่ได้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนชนิดรวมเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า
- มีต่อตอนที่ 2-