การตรวจสุขภาพประจำปี

การตรวจสุขภาพประจำปี


รศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            มีผู้สงสัยและสอบถามกันมามากว่า การตรวจร่างกายประจำปีจำเป็นจะต้องมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่ และมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด สำหรับคำถามนี้ จำเป็นที่ต้องให้เกิดโรคต่าง ๆ ก่อนแล้วค่อยมาพบแพทย์หรือไม่ จะเห็นว่า ถ้ารอให้เกิดโรคต่าง ๆ ก่อนก็มักจะสายเกินไปที่จะรักษาโรคนั้นให้หายขาดไปได้ ดังนั้น การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แพทย์จะสามารถควบคุมโรคไม่ให้เป็นไปอย่างรุนแรงจนเกิดผลแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในปัจจุบัน ทั้งนี้ การป้องกันโรควิธีหนึ่งก็คือ การตรวจสุขภาพประจำปีนั่นเอง
           หลาย ๆ ท่านมักจะเจอกับตนเองว่า เมื่อสมัยเป็นหนุ่มสาวมักจะมีสุขภาพแข็งแรง บางทีอดหลับอดนอนหลาย ๆ วันก็ไม่เป็นอะไร แต่เมื่อเริ่มอายุมากขึ้นร่างกายจะเสื่อมไปตามอายุขัย ความชราเข้ามาเยือนก็จะเกิดความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ในช่วงวัยนี้ก็อาจจะมีโรคต่าง ๆ แทรกอยู่ ในช่วงระยะแรกก็จะแทรกอยู่โดยที่ตัวเองไม่รู้ เช่น ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น หากรอให้เกิดอาการก็อาจจะสายเกินไป เพราะฉะนั้นการตรวจร่างกายประจำปีก็จะเป็นกลไกอันหนึ่งของแพทย์ที่จะใช้ตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่โรคจะเป็นมากแล้ว

การป้องกันโรคแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. การส่งเสริมสุขภาพทั่วไป ได้แก่ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้
ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนให้เพียงพอ
2. การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ตอนที่โรคยังเป็นไม่มากนัก
3. คนที่ป่วยเป็นโรคแล้วหรือมีความพิการเกิดขึ้นแล้ว เราก็ยังจะต้องป้องกันต่อไปเพื่อไม่
ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน สำหรับการตรวจร่างกายประจำปี โดยเฉลี่ยแล้วคนที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ควรที่จะมีการ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี แต่บางคนอาจจะไม่ต้องรอให้อายุถึง 40  ปีแล้วจึงมาตรวจ เพราะสุขภาพแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น บางคนมีพ่อแม่ พี่น้องเป็นโรคเบาหวาน และตัวเองมักจะมีอาการอ่อนเพลียง่าย ปัสสาวะบ่อย ลักษณะอาการนี้ก็ควรจะมาตรวจได้เลย เพราะอาการบางอย่างอาจจะซ่อนอยู่เพียงเล็กน้อย เรานึกว่าไม่ใช่อาการก็ต้องหมั่นดูตัวเองว่า เรามีอาการผิดปกติที่ไม่เหมือนอาการที่เคยเป็นมาหรือไม่ ก็ควรรีบมาตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่ารอให้เป็นมาก  จริง ๆ แล้วการตรวจสุขภาพประจำปี จะมาตรวจเมื่อใดก็ได้ตามที่ท่านสะดวก เช่น ผู้ที่มีอาชีพเป็นครู ก็มักมาตรวจสุขภาพประจำปีช่วงปิดภาคเรียน เป็นต้น
           การตรวจสุขภาพประจำปี ผู้ตรวจควรเตรียมประวัติหรือข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงโรคประจำตัว ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ฟิล์มเอกซเรย์ในอดีต พร้อมทั้งนำยาทุกชนิดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไปให้แพทย์ดูด้วย ควรงดอาหารและน้ำก่อนการไปตรวจ 10-12 ชั่วโมง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจาะเลือด ขั้นตอนในการตรวจสุขภาพ ท่านจะได้รับการสอบถามจากแพทย์เกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วย การใช้ยาและประวัติอื่น ๆ จากนั้นแพทย์จะให้ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจร่างกายทั่วไป สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมแต่ละราย หลังจากนั้นแพทย์จะสรุปผลการตรวจ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพและนัดหมายการตรวจครั้งต่อไป รวมทั้งให้การรักษาหากพบโรคต่าง ๆ เพื่อให้ท่านมีสุขภาพที่แข็งแรงต่อไป สำหรับค่าใช้จ่าย  โดยทั่วไป ถ้าเป็นการตรวจพื้นฐาน เช่น ตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ตรวจดูระดับน้ำตาล ตรวจภาวะไขมัน ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ก็จะประมาณไม่เกิน 1,000 บาท แล้วแต่โรงพยาบาล  ดังนั้น คนไทยในยุคนี้อย่ารอให้เจ็บป่วยเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรักษา ควรดูแลป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพของท่านด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหวานจัด เค็มจัดหรืออาหารที่ไม่สะอาด  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอบายมุขต่าง ๆ เช่น บุหรี่ สุรา สำหรับผู้ชายก็ควรระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ พรใดก็จะไม่สำคัญเท่ากับคำอวยพรที่ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา คือ การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”
  

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด