ประวัติภาควิชา

 

  ตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงเรียนแพทยากร ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2432 และเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนราชแพทยาลัย เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2443 นั้น มีการผ่าศพเพื่อดูพยาธิสภาพด้วยตาเปล่าโดยแพทย์ที่ดูแลรักษา ไม่มีพยาธิแพทย์ในสมัยนั้น (เรียกตามศัพท์พยาธิวิทยาในปัจจุบันว่า “autopsy” ซึ่งจัดอยู่ใน “มหพยาธิวิทยา” หรือ “gross pathology”)  การผ่าศพนี้มีบันทึกไว้ว่า “การผ่าศพ สอนให้ผ่าศพ เพื่อให้มีความคุ้นเคย ใจกล้า แลเห็นอวัยวะ เส้นเอ็นโดยชัดเจน” ชั่วโมงเรียน “ผ่าศพ” ปรากฏในชั้นปี 3 ของหลักสูตรการเรียน 4 ปีในระหว่าง พ.ศ. 2450-2455 โดยมี ดร. ทอยเป็นผู้สอน ซึ่งได้รับค่าสอนผ่าศพสูงกว่าค่าสอนปกติ [ศิริราชร้อยปี]  และมีวิชา “ตรวจโรคในศพ” สำหรับชั้นปี 4 (แพทย์ฝึกหัด) โดยมีขุนเวชสิทธิพิลาศเป็นผู้สอน  ในยุคแรกนั้นเป็นเรื่องของการตรวจเชื้อโรค  มี “แผนกตรวจเชื้อ” อยู่ที่ตึกเสาวภาคย์  ตึกหลังนี้เป็นตึกสองชั้น  ชั้นบนใช้เป็นที่สอน  ชั้นล่างใช้เป็นห้องปฏิบัติการ  มีการสอนวิทยาบัคเตรีและวิทยาปาราสิต แบบบรรยาย การแสดงและภาคปฏิบัติบ้างเล็กๆน้อยๆ  โดยเริ่มต้นในสมัยโรงเรียนราชแพทยาลัย ในปี พ.ศ. 2457 การสอนพยาธิวิทยาในสาขาพยาธิวิทยากายวิภาคอย่างแท้จริงนั้นเริ่มต้นโดยนายแพทย์เอลเลอร์ จี. เอลลิส (Aller G. Ellis) พยาธิแพทย์ซึ่งได้เดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 1กรกฎาคม พ.ศ. 2462  อาจารย์เอลลิส มาช่วยจัดตั้งแผนกพยาธิวิทยา และอาศัยความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation)    ก่อนมาประเทศไทยนั้น อาจารย์เอลลิส เป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการคลินิกเอเยอร์ โรงพยาบาลเพนซิลวาเนีย (Ayer Clinical Laboratories at Pennsylvania Hospital) มาแล้ว 2 ปี    อาจารย์เอลลิส ได้ใช้วิธีการสอนวิชาพยาธิวิทยาตามแบบโรงเรียนแพทย์เจฟเฟอร์สัน (Jefferson Medical School) ที่ซึ่งอาจารย์เอลลิส จบการศึกษาและฝึกอบรมเป็นพยาธิแพทย์  มีปาฐกถา, การตรวจศพ การตรวจเนื้อทางพยาธิวิทยา ตัดบางด้วยเครื่องมือ (sectioning), ย้อมสี, ตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์  และจัดทำสถิติ  มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์  นอกจากนี้แล้วอาจารย์เอลลิส ยังได้แนะนำสั่งสอนในสาขาวิชาอื่นๆ อีก เช่น การตรวจเลือด, ปัสสาวะและอุจจาระ แต่เมื่อสิ้นสุดสัญญา 2 ปี อาจารย์เอลลิส ต้องเดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกา  ทำให้กิจการพยาธิวิทยาต้องหยุดชะงักลง  ซึ่งในขณะนั้นมีแพทย์ไทยเพียง 3 คนเท่านั้น คือ นพ. เกตุ สุกัณหะเกตุ (ขุนเกตุทัศน์วิทยาพยาธิ), นพ. เทียบ สุ่มสวัสดิ์ (ขุนศรีภิษัช) และ นพ. แปลก ทัศนียเวช (หลวงไตรกิศยานุการ) เท่านั้น   อาจารย์เอลลิส ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับสมเด็จพระราชบิดาซึ่งเสด็จมาใช้ห้องปฏิบัติการ ณ ตึกเสาวภาคย์ ในปี พ.ศ. 2463 ซึ่งเป็นความประทับใจในพระราชจริยาวัตรของพระองค์ท่าน ดังปรากฏในบทความเรื่อง “My fourteen years at Siriraj” ที่อาจารย์เอลลิส ได้เขียนไว้ในหนังสือเวชชนิสสิต 2478 อาจารย์เอลลิส ตัดสินใจกลับมาศิริราชอีกครั้ง เมื่อได้รับการติดต่อจากรัฐบาลไทยให้กลับมาช่วยจัดวางระบบการศึกษาแพทย์  ซึ่งท่านได้เขียนไว้ในบทความเดียว ดังนั้นอาจารย์เอลลิสได้กลับมาเป็นหัวหน้าแผนกพยาธิวิทยาอีกครั้งระหว่างปี พ.ศ. 2466-2471 ซึ่งต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ในปี พ.ศ. 2471-2478 และอธิการบดีจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2478-2481  อาจารย์เอลลิสได้แต่งตำราขึ้นหนึ่งเล่มในปี พ.ศ. 2469 ชื่อ “Elements of Pathology” [Ellis, 1926] ซึ่งใช้ในการเรียนพยาธิวิทยาทั้งในคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลในยุคนั้น ตลอดจนในต่างประเทศด้วย