หน้าหลัก   รู้จักองค์กร   การศึกษา   บริการประชาชน   English  
 
 
ยุคบุกเบิก พ.ศ.๒๔๘๖-๒๕๐๗

     ก่อนที่จะมีกำเนิดเป็นภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล งานศัลยกรรม กระดูก และข้อ ในประเทศไทย ได้มีมาช้านาน ตั้งแต่ยุคก่อนการก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ (พ.ศ.2378-2431) และโดยความเป็นจริงแล้ว การรักษากระดูกหักข้อเคลื่อน รวมทั้งการรักษาโรคกระดูก เช่น เอ็น ปวดหลัง ปวดข้อ ก็ได้มีการรักษา กันมาช้านาน ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ รวมความตั้งแต่สมัยสุโขทัย, สมัยกรุงศรีอยุธยา สืบมาจนถึง สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการรักษากระดูกหัก โดยการใช้เฝือกแบบลูกระนาด ใน แผ่นดินพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการพัฒนาการรักษาโรคด้วยเภสัชสมุนไพรและการรักษาทางกายภาพบำบัด ทั้งนี้จะเห็นได้จาก รูปปั้นฤาษี ดัดตนอันเป็นลักษณะของการให้การรักษา ทางกายภาพบำบัดถึง 80 ท่า ที่วัดพระเชตุพนฯ และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราช มีการวาดภาพฤาษีดัดตน เป็นจิตรกรรมฝาผนังไว้ ณ ศาลาโถง วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ถึง 40 ท่า

     การผ่าตัดรักษาภยันตรายที่เกิดกับแขนและขา ได้เริ่มปรากฏในประวัติศาสตร์การแพทย์ไทย เมื่อนายแพทย์แคน บีช บรัดเลย์ มิชชันนารี คณะเพรสไบทีเรียน ได้เข้ามาประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2378 ได้ทำการผ่าตัดแขน เพื่อช่วยชีวิตพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่ง ซึ่งกระดูกแขนแตกหัก มีบาดแผลฉกรรจ์ เนื่องจาก ถูกแรง ระเบิดจากปืนใหญ่ ที่ใช้ทำไฟพะเนียง ในงานวัดประยูรวงศ์ โดยการใช้ วิทยาการแผนตะวันตก การผ่าตัดได้ผลสำเร็จหายเรียบร้อย นับว่าเป็นการตัดแขนออก เป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ ของวงการ แพทย์ไทย ที่ได้มีจารึกไว้ ในปี พ.ศ.2411 มีศาสตราจารย์แดเนียล แมคกิลวารี เป็นแพทย์มิชชันนารี ได้เดินทาง ไปวางรากฐาน การแพทย์สมัยใหม่ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และมีหลักฐานบ่งว่า ได้มีการเย็บแผล และเข้าเฝือกดามกระดูกหักด้วย

     รุ่งอรุณแห่งวิชาออร์โธปิดิคส์หรือศัลยกรรมกระดูกและข้อ เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2431-2466 นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จ พระราชดำเนินทรงเปิด “โรงศิริราชพยาบาล” เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2431 การรักษา พยาบาลโรคกระดูก โรคข้อ ของระบบโครงร่าง แขน ขา ลำตัว และการเคลื่อนไหวก็ค่อยๆ เริ่มต้น พร้อมกับการรักษาโรคทั่วๆ ไป และเมื่อโรงเรียนแพทยากร โรงเรียนแพทย์แห่งแรก ของประเทศไทย ได้ถือกำเนิดขึ้น ที่ โรงศิริราชพยาบาลในปีต่อมา การศึกษา แพทย์แผนใหม่ก็ได้อุบัติขึ้น งานออร์โธปิดิคส์ เริ่มปรากฎเด่นชัดขึ้น มีการดามกระดูก ดามข้อ มีการใช้เครื่องพยุงกาย มีการเข้าเฝือก เพื่อรักษา กระดูกหักข้อเคลื่อน มีการตัดแขน ตัดขา ตัดก้อนเนื้องอก และผ่าตัดฝี (หนองในโพรงกระดูก) วัณโรคกระดูก เป็นต้น

     เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารหลังใหม่ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ สอนนักศึกษา แพทย์ และหอพักที่โรงศิริราชพยาบาล และได้พระราชทานนามใหม่ว่า “โรงเรียนแพทยาลัย”   นับตั้งแต่นั้นมา การแพทย์แผนปัจจุบัน และการสอนวิชาแพทย์ ก็เจริญอย่างรวดเร็ว เป็นที่นิยมของประชาชน และเป็นที่เลื่อมใส ของนักเรียน ในปี พ.ศ. 2445 หลักสูตรการเรียนแพทย์ถูกเปลี่ยนจาก 3 ปี เป็น 4 ปี และปี พ.ศ.2447 โรงเรียนแพทยาลัย ได้เลิกการรักษา และการสอนแผนโบราณ   ต่อมาในปี พ.ศ.2454 ได้ขยายหลักสูตรเป็น 5 ปี ในช่วงระยะเวลา ของการเปิด โรงเรียนแพทยากร และโรงเรียนแพทยาลัย ก็มีการเรียนการสอน วิชาออร์โธปิดิคส์มาตลอด แต่เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเซอร์เยอร์รี่ โดยเฉพาะเน้นหนัก เรื่องกระดูก หักข้อเคลื่อน กระดูกหักชนิดไม่มีแผลเปิดเผย (closed fracture) ชนิดมีบาดแผล (open fracture) crush injury, เนื้องอกตามแขน ขา ลำตัว เป็นต้น

     ในปลายปี พ.ศ.2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมี พระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย จากโรงเรียนข้าราช การพลเรือน  และในปี พ.ศ.2460 โรงเรียนราชแพทยาลัย ได้ถูกจัดรวมอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แห่งจุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขยายหลักสูตรจาก 5 ปี เป็น 6 ปี  และเรื่องที่ต้องจารึกไว้ ในวงการออร์โธปิดิคส์ ก็คือบทความเกี่ยวกับ วิชาออร์โธปิดิคส์เก่าแก่ที่สุด ที่ลงพิมพ์ในวารสาร การแพทย์ไทยเป็นครั้งแรก ได้แก่ บทความเกี่ยวกับวิชากระดูกหักลงพิมพ์ในวารสารจดหมายเหตุ กาชาดสยาม เล่มที่ 14 เดือนเมษายน พ.ศ. 2464 หน้า 87-115 โดย พ.อ.พระศักดา พลรักษ์

     การเรียนการสอนวิชาออร์โธปิดิคส์เริ่มเป็นล่ำเป็นสัน ถือว่าเป็นอิฐก้อนแรกที่ได้ถูกปูไว้ เริ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2466-2488 ซึ่งถือว่าเป็น ยุคทอง อันเป็น ช่วงปรับปรุง เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่ง ของวงการแพทย์ไทย เมื่อองค์สมเด็จพระบรมราชชนก เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ได้ทรงตั้ง พระทัยอย่างจริงจัง ในการปรับปรุงระบบการแพทย์ไทย ให้ได้มาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศ โดยได้ทรงทุ่มเทเวลา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวนมหาศาล และทรงเจรจา ทำความตกลงกับมูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเลอร์ รวมหลายครั้ง จนได้มีการทำสัญญา ให้ความช่วยเหลือ กับรัฐบาลไทย เมื่อปี พ.ศ.2466 ตามโครงการปรับปรุง การศึกษาแพทย์ และให้ทุนสร้างอาคารใหม่ สำหรับโรงเรียน และโรงพยาบาลศิริราช (มูลนิธิและรัฐบาลไทย ออกเงินคนละครึ่ง) ระยะเวลา 12 ปี ยังผลให้วิชาออร์โธปิดิคส์ เป็นหนึ่งในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุน ให้ทุนอาจารย์ไปศึกษาเพิ่มเติม ในต่างประเทศ นอกเหนือจากความช่วยเหลือด้านอื่นๆ

     อดีตอาจารย์ที่ทำหน้าที่สอนวิชาศัลยกรรม ที่ทำงานช่วยสอนหรือสอดแทรกวิชาออร์โธปิดิคส์ยุคนั้น มีดังนี้
      1. พ.อ.พระศัลยเวท วิศิษฎ์
      2. นายแพทย์ทีพี โนเบิล
      3. นายแพทย์ประจักษ์ (เซ้ง) ทองประเสริฐ
      4. นายแพทย์เบ็ญทูล บุญอิต
      5. น.อ.นายแพทย์เล็ก สุมิตร
      6. นายแพทย์เล็ก ณ นคร
      7. นายแพทย์สำอางค์ (สมาน) สมานวณิช
      8. นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน
      9. นายแพทย์ตระกูล ถาวรเวช
      10. นายแพทย์คง สุวรรณรัต แพทย์ประจำบ้าน
      11. นายแพทย์ ม.ล.จินดา(ก้อง) สนิทวงศ์ แพทย์ประจำบ้าน

     การเรียนการสอนวิชาออร์โธปิดิคส์ ที่รวมอยู่ในวิชาศัลยศาสตร์ มีการสอนโรคทางระบบ การเคลื่อนไหว, กระดูกหักข้อเคลื่อน, วัณโรคกระดูก, โรคโพรง กระดูกอักเสบ, Perthe's disease, club foot, ข้ออักเสบ, bone tumor เป็นต้น ส่วนการรักษา กระดูกหัก ข้อเคลื่อน ส่วนมากรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด

     การบุกเบิกวิชา ออร์โธปิดิคส์ ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระหว่างปี พ.ศ.2486-2511 โดยศาสตราจารย์นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน ซึ่งได้เ ดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2483 และเดินทางกลับในปี พ.ศ.2486 ได้ศึกษาวิชา ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์กับ Dr. A.Steidler ที่เมือง Lowa มลรัฐ Lowa ได้นำวิชาออร์โธปิดิคส์แผนใหม่ และเทคโนโลยีก้าวหน้า เข้ามาสอน และให้การรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ รวมทั้งภยันตราย ที่เกิด กับระบบการเคลื่อนไหวอย่างมีระบบ และจริงจัง มีการ ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาออร์โธปิดิคส์ ระบบ house และ senior house officer ซึ่งเริ่มในปี พ.ศ. 2491 นอกจากนี้ อาจารย์ยังได้พัฒนาการเรียนการสอน และการให้บริการผู้ป่วย ทางด้านกายภาพบำบัด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ศาสตราจารย์นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน

     จบปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต รุ่นที่ 39 ปี พ.ศ.2476 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ในวิชาศัลยศาสตร์ หลังจากเป็นแพทย์ ประจำบ้านศัลยศาสตร์ 1 ปี จึงได้บรรจุเป็นอาจารย์ศัลยศาสตร์ และได้เดินทางไปศึกษา ณ ประเทศ สหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2483- 2486   เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีผลให้มีผู้ป่วยจำนวนมาก ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธสงคราม อาจารย์และทีมงานได้ปฏิบัติภาระกิจอย่างหนัก จน วิกฤตการณ์ผ่านพ้นไป ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาได้รับผลดีเป็นที่พอใจ

     ในเรื่องการเรียนการสอนวิชาออร์โธปิดิคส์ แก่นักศึกษาแพทย์นั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างมาก เช่น เพิ่มการสอนภาคบรรยาย, มีการสอนข้างเตียง, การตรวจ ผู้ป่วยนอก, การฝึกภาคปฏิบัติ เช่น การเข้าเฝือก, ทำแผล, ช่วยผ่าตัดเน้นหนักในเรื่อง aseptic technique ท่านได้พยายามพัฒนาวิชานี้อย่างจริงจัง และได้ แต่งตำราวิชาออร์โธปิดิคส์ เล่มแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นตำรามาตรฐาน ที่นักศึกษาแพทย์ และแพทย์สมัยนั้นใช้กันทั่วไป จนในที่สุดได้พยายามแยก สาขา วิชาศัลยศาสตร์ออร์ออร์โธปิดิคส์ ที่รวมอยู่กับแผนก ศัลยศาสตร์ มาเป็นแผนกวิชา ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด หรือภาควิชาศัลย ศาสตร์ ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2507 และท่านได้เป็นหัวหน้าแผนกวิชานี้เป็นคนแรก

     ทีมงานของอาจารย์เฟื่องในสมัยต้น เมื่อศาสตราจารย์นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน ได้เดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ได้มีอาจารย์ ในภาควิชาศัลย์ศัลศาสตร์ สมัยนั้น ทำงานร่วมกับอาจารย์ดังนี้


     1. นายแพทย์ตระกูล ถาวรเวช จบแพทย์ศิริราช เมื่อปี พ.ศ.2480 ได้บรรจุเป็นอาจารย์ผู้ช่วยศัลยศาสตร์ เมื่อปี 2484 ช่วยอาจารย์เฟื่องเต็มเวลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 ทำงานออก OPD ดูแลผู้ป่วยใน ผู้ป่วยฉุกเฉิน ช่วยผ่าตัดมือหนึ่ง เข้าเฝือก และงานอื่นๆ อีกมากมาย ต่อมาท่านได้ย้ายไปทำงาน ที่กองทัพอากาศและเป็นเจ้าภาพกรมแพทย์ทหารอากาศในที่สุด

     2. นายแพทย์อุทัย ศรีอรุณจบแพทย์ที่ศิริราช ปี พ.ศ.2486 นอกจากทำงานด้านศัลยกรรมทั่วไปแล้ว ได้ช่วยอาจารย์เฟื่อง และอาจารย์ตระกูล ทางด้านออร์โธปิดิคส์ อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ.2496 อาจารย์ได้ย้ายไปอยู่ โรงพยาบาลตำรวจ ตามความต้องการของทางราชการ ได้พัฒนาการแพทย์ ให้กับกรมตำรวจเป็นอย่างมาก ท่านได้เป็นนายแพทย์ใหญ่กรมตำรวจในที่สุด

     3. นายแพทย์ทองนอก นิตยสุทธิ์ จบแพทย์ศาสตร์ที่ศิริราช เมื่อ พ.ศ.2491 ได้เป็นอาจารย์ศัลยศาสตร์ และได้มาช่วยอาจารย์เฟื่องทางออร์โธปิดิคส์ระยะหนึ่ง ในช่วงที่อาจารย์ตระกูล ย้ายไปอยู่โรงพยาบาล ทหารอากาศ อาจารย์ประจักษ์ ทองประเสริฐ หัวหน้าแผนกศัลยศาสตร์ขณะนั้น ได้หาอาสาสมัครช่วย อาจารย์เฟื่อง ซึ่งมีอาจารย์ทองนอกและอาจารย์นที รักษ์พลเมือง เข้ามาร่วมงาน อย่างไรก็ตาม อาจารย์ทองนอก ได้ช่วยอาจารย์เฟื่องอยู่ระยะหนึ่ง ก็ย้ายกลับมาทำงาน ทางด้านศัลยกรรมทั่วไป

     4. นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง จบแพทย์ศาสตร์ที่ศิริราช พ.ศ.2492 ได้เป็นแพทย์ประจำบ้าน แผนกวิชาศัลยศาสตร์ ปี พ.ศ.2493 เป็นหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านปี พ.ศ.2494 เมื่อบรรจุเป็นอาจารย์ แผนกศัลยศาสตร์ อาจารย์นที ทำงานด้านศัลยกรรมทั่วไป อยู่ประมาณ 3 ปี จึงได้มาช่วยอาจารย์เฟื่อง ซึ่งเป็นช่วงที่อาจารย์ตระกูล ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลทหารอากาศ  งานทางด้านศัลยกรรมของอาจารย์ ประกอบด้วยศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ทรวงอก และศัลยกรรมตกแต่ง ในระยะเวลาต่อมาอาจารย์อุทัย ได้ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจ  อาจารย์ทองนอก กลับไปทำงาน ทางด้านศัลยกรรมทั่วไปมากขึ้น จึงมีอาจารย์นที เหลือแต่เพียงผู้เดียว ช่วยอาจารย์เฟื่อง และทำงานร่วมกับ อาจารย์เฟื่องมาตลอด ได้มีส่วนร่วมในการแยก แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ ออกเป็น แผนกศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ โดยมีอาจารย์เฟื่อง เป็นหัวหน้าแผนกวิชาคนแรก
      เมื่ออาจารย์เฟื่อง เกษียณอายุราชการ อาจารย์นที ก็ได้ประจำตำแหน่งแทน และต่อมาก็ได้เป็นศาสตราจารย์ ทางศัลยศาสตร์ออร์ โธปิดิคส์ ด้วยความรู้ ความสามารถจึงได้รับเลือกเป็นคณบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในช่วงปี พ.ศ. 2528-2532 และปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดของมหาวิทยาลัย    อาจารย์นที ได้ทำงานช่วย อาจารย์เฟื่อง ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2496-2502 ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ที่ประเทศอังกฤษ ที่ Institute of Orthopaedics มหาวิทยาลัย ลอนดอน ประมาณ 1 ปีเศษ ได้นำความรู้ใหม่ ๆ กลับมาพัฒนางาน ทางด้านศัลยกรรมกระดูก เป็นจำนวนมาก เช่น การผ่าตัด nerve injury, anterolateral decompression ในวัณโรคกระดูกสันหลัง ในผู้ป่วยอัมพาต ได้นำความรู้ทาง hand reconstruction เกี่ยวกับการทำ tendon transfer การทำผ่าตัด muscle sliding ใน volkman ischaemic contracture การผ่าตัดรักษา กระดูกหักดามด้วย เครื่องตรึงภายใน และอื่นๆ อีกมากมาย นับว่าเป็นการเปิดศักราช ของการแพทย์ด้านศัลยกรรมกระดูกสมัยใหม่ เพิ่มเติมจากที่อาจารย์เฟื่อง ได้ศึกษามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา
     งานพิเศษสำคัญงานหนึ่ง ในช่วงที่อาจารย์เฟื่องร่วมปฏิบัติงานอยู่กับอาจารย์นที คือในปี พ.ศ.2494 ได้มีการโอนงานทางด้าน คลังเลือด จากแผนกสูติกรรม มาอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานออร์โธปิดิคส์ โดยมีอาจารย์เฟื่อง เป็นหัวหน้าหน่วยถ่ายเลือด และมีอาจารย์นทีเป็นผู้ช่วย ซึ่งนับว่าเป็นผู้ที่ออกแรง ทำงานด้านนี้อย่างเข้มแข็ง ทั้งด้านบริหารและปฏิบัติ จนกระทั่งได้อาจารย์ แพทย์หญิงทัศยานี จันทนยิ่งยง มาช่วยเหลือ ได้ขยายงานบริการและการเรียนการสอน จนเป็นภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด โดยมีอาจารย์ทัศยานี เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ ซึ่งมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นศาสตราจารย์
     ปี พ.ศ. 2502-2503 ขณะที่อาจารย์นที ศึกษาต่ออยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น มีอาจารย์นายแพทย์เกษียร ภังคานนท์ และอาจารย์ นายแพทย์สิทธิ์ เตชะกัมพุช มาช่วยอาจารย์เฟื่อง แต่อาจารย์เกษียร ทำงานอยู่กับอาจารย์เฟื่องระยะสั้น จึงขอย้ายไปทำงานทางด้าน ศัลยกรรมทั่วไป ต่อมาได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ ที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เดินทางไปศึกษาต่อต่าง ประเทศ อาจารย์ทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ระยะหนึ่ง จึงโอนกลับมาเป็นอาจารย์ ในหน่วยศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เป็นศาสตราจารย์ หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ในช่วงที่ อาจารย์นที เดินทางไปศึกษา ต่อต่างประเทศนั้น ได้มีอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ที่ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ที่ประเทศฝรั่งเศส คือ อาจารย์เฉลิม รัตนเทพ และได้กลับมา ช่วยอาจารย์เฟื่อง อยู่ด้วยผู้หนึ่ง

      5. นายแพทย์เฉลิมชาติ รัตนเทพ 
สำเร็จแพทยศาสตร์บัณฑิตจากศิริราช ปี พ.ศ.2497 เป็นแพทย์ประจำบ้าน และหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน แผนกวิชาศัลยศาสตร์ ต่อมาสอบชิงทุน SEATO ได้เดินทางไปศึกษาต่อวิชา ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ประมาณ ปี พ.ศ.2500 ศึกษาอยู่กับ Professor Merle d' Adubigne เน้นทางด้าน hip และศึกษา hand surgery กับ Dr. Tubiana ได้นำความรู้ทางด้าน spinal surgery โดยเฉพาะการทำ myelogram, disc surgery, hand surgery และอื่นๆ มาเผยแพร่กับแพทย์รุ่นหลัง อาจารย์ช่วยอาจารย์เฟื่อง 3-4 ปี จึงได้ย้ายกลับไปทำงาน ด้านศัลยกรรมทั่วไป เมื่อปี พ.ศ.2506 โดยเน้นในเรื่องควบคุมดูแลงาน ทางด้านศัลยกรรม ที่ตึกผู้ป่วยนอก จนเกษียณอายุราชการ ตำแหน่งทางวิชาการก่อนเกษียณคือ รองศาสตราจารย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์

     6. นายแพทย์สิทธิ์ เตชะกัมพุช 
ท่านจบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต ปี พ.ศ.2499 เมื่อท่านจบแพทย์แล้ว ได้เป็นแพทย์ประจำบ้าน และหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน ที่แผนกวิชาศัลยศาสตร์ จนในที่สุดได้ย้ายมา ร่วมงานกับอาจารย์เฟื่อง และอาจารย์นที ได้บรรจุเป็นอาจารย์และ ได้ชื่อว่าเป็นลูกศิษย์ก้นกุฎิคนหนึ่ง ของอาจารย์เฟื่อง และอาจารย์นที ทำงานใกล้ชิดกับบุคคลทั้งสอง มาโดยตลอด ในช่วงที่อาจารย์นที ศึกษาอยู่ต่างประเทศ อาจารย์สิทธิ์ได้เป็นกำลังสำคัญของอาจารย์เฟื่อง ในเรื่องการทำงาน, การผ่าตัด และการเรียนการสอน เพราะอาจารย์ท่านอื่นๆ จะต้องแยกย้าย ไปปฏิบัติงานตามที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นได้มีอาจารย์สำคัญท่านหนึ่ง ได้เข้ามาสู่วงจรของงาน ทางด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ ท่านผู้นี้คือ อาจารย์นายแพทย์ดำรง กิจกุศล

อาจารย์สิทธิ์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมันกับ Professor Imhauser เมื่อปี พ.ศ.2507 ได้ศึกษา paediatric orthopaedic เน้นหนักไปทางด้าน club foot, CDH, ซึ่งเป็นเรื่อง ที่ได้รับมอบหมาย จากอาจารย์เฟื่อง ให้ดูแลผู้ป่วยดังกล่าว และเป็นโอกาสเหมาะที่ Professor Imhauser ก็เชี่ยวชาญทางด้านนี้อยู่พอดี จึงนับได้ว่าเป็นโอกาสทอง ที่อาจารย์ได้ร่ำเรียน มาจากต้นตำรับจริง ๆ

     7. นายแพทย์ดำรง กิจกุศล 
จบแพทย์ศาสตร์บัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 หลังจบการศึกษา ได้เป็นแพทย์ ประจำบ้าน และหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน แผนกวิชาศัลยศาสตร์ และได้เข้ามาร่วม กับอาจารย์เฟื่อง ในเวลาต่อมา ท่านมีความชำนาญการทำผ่าตัด (amputation) แขน และขา และสนใจงานทางด้าน แขนขาเทียม จึงได้ทำงานสานต่องานนี้ ตามที่อาจารย์เฟื่องได้ริเริ่มไว้ เมื่อมีมูลนิธิ อนุเคราะห์คนพิการ โดยหม่อมงามจิตร บุรฉัตร และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เข้ามาช่วยเหลือ ทางด้านเทคนิค ได้เปิดโรงงาน ทำแขนขาเทียม และเครื่องช่วยคนพิการ ประเภท prosthesis, brace, orthosis ท่านจึงได้รับหน้าที่ เป็นหัวหน้าหน่วยงาน และโรงงานผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ สามารถให้บริการ ผู้ป่วยพิการ แขน ขา ลำตัว ได้อย่างกว้างขวาง มีผู้ป่วยจากทั่วทุกสารทิศในประเทศ และต่างประเทศ ได้รับความอนุเคราะห์ ช่วยเหลือ เป็นจำนวนมหาศาล งานทางด้านนี้ จึงเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา ของโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา

     อาจารย์ดำรง ได้เดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศพม่า, สหรัฐอเมริกา, เดนมาร์ค ได้นำความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนางานด้านนี้ ไปข้างหน้า อย่างไม่หยุดยั้ง อาจารย์ดำรง จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้บุกเบิกงานทางด้าน prosthesis, orthosis ของประเทศ ที่ได้รับ การยกย่อง ยอมรับว่าเป็น ปรมาจารย์ทางด้านนี้โดยทั่วไป อาจารย์ได้อุทิศทำงาน ทางด้านเครื่องช่วยคนพิการมาตลอด จนเกษียณ อายุราชการ ขณะดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็นศาสตราจารย์คลีนิค ท่านได้สิ้นบุญไปเมื่อปี 253

     8. นายแพทย์ประจวบ บิณฑจิตต์ 
จบแพทย์ศาสตร์บัณฑิต ปี พ.ศ.2502 ได้เป็นแพทย์ประจำบ้าน และหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน แผนกวิชาศัลยศาสตร์ บรรจุเป็นอาจารย์ และต่อมาย้ายมาอยู่ออร์โธปิดิคส์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศออสเตรีย และสหรัฐอเมริกา อาจารย์ประจวบ เป็นผู้ที่มีความสามารถ ในการรักษากระดูกหักข้อเคลื่อน และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม มีตำแหน่งทางวิชาการ เป็นศาสตราจารย์คลีนิค เคยดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ ในช่วงที่อาจารย์สิทธิ์เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ

     9. นายแพทย์ประพันธ์ จิตต์จำนงต์ 
จบแพทยศาสตร์บัณฑิตที่ศิริราช เมื่อปี พ.ศ.2503 แล้วเป็นแพทย์ประจำบ้าน และหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน แผนกวิชาศัลยศาสตร์ และได้บรรจุเป็นอาจารย์ เมื่อย้ายมาแผนกวิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ อาจารย์ได้เดินทางไปศึกษาเพิ่มเติม ที่ประเทศเดนมาร์ค มีความสนใจในโรคต่างๆ ทางออร์โธปิดิคส์ โดยเฉพาะเรื่องข้ออักเสบ เป็นรองศาสตราจารย์ ทางศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ เคยปฏิบัติงานเป็น รองหัวหน้าภาควิชา ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ฯ เคยดำรงตำแหน่งเหรัญญิก เลขาธิการ และอุปนายกสมาคมออร์โธปิดิคส์ แห่งประเทศไทย และดำรง ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ในช่วงที่อาจารย์นที เป็นคณบดี เพราะตรากตรำกับการทำงาน ประกอบกับมีภาระกิจส่วนตัวมาก มีเวลาพักผ่อนน้อย ท่านได้ล้มป่วยด้วยโรคตับและถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา

     ในขณะที่มีการพัฒนาการขยายงาน ทางด้านออร์โธปิดิคส์ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ตามความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ได้มีแพทย์เข้ามาเป็นลูกศิษย์ ฝึกอบรมออร์โธปิดิคส์ ในภาควิชาเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา

 
 
 
  ประวัติความเป็นมา : ทำเนียบหัวหน้าภาคฯ : อาจารย์ที่ปรึกษา : โครงสร้างภาควิชาฯ : วิสัยทัศน์และพันธกิจ : แผนกลยุทธ์  
 
 
Siriraj Ortho Spirit รวมใจรัก สามัคคี มีพลัง
 
 

ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 2 ถนนวังหลัง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
โทรศัพท์ 02-419-7964, แฟกซ์ 02-419-7967