ประวัติภาควิชา
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ได้เข้ามาช่วยเหลือและปรับปรุงการเรียนวิชาแพทย์ในศิริราชพยาบาล โดยมีอาจารย์ชาวต่างประเทศเข้ามาช่วยสอน โดยหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ศาสตราจารย์ ที พี โนเบิล (T.P. Noble) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกศัลยศาสตร์
ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ ได้เริ่มมีแพทย์ประจำบ้าน สาขา ตา หู คอ จมูก เป็นครั้งแรก ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์แดง กาญจนารัณย์ ซึ่งในระยะแรก ของการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับแผนกศัลยศาสตร์ ต่อมามีแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ อีกหนึ่งท่าน คือ ศาสตรจารย์ นายแพทย์ พร วราเวชช์ และ ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชุด อยู่สวัสดิ์ ได้เข้ามาช่วยงานเพิ่มขึ้น
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้ง แผนกจักษุ โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา ขึ้นเป็นแผนกใหม่ โดยมีหัวหน้าแผนก คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์แดง กาญจนารัณย์ และมีอาจารย์ในแผนก ๒ ท่าน โดยมีแพทย์ประจำบ้านเพิ่มเติมอีก คือ ปีที่ ๒ (Senior House Officer) นายแพทย์ เสริม อักษรานุเคราะห์ และปีที่ ๑ (House Officer) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจงศักดิ์ นะมาตร์ และ นายแพทย์ เกรียงไกร พานิช
วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๓ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้รับการตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อุดม โปษะกฤษณะ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ต่อมาจึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจงศักดิ์ นะมาตร์ เป็นหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยาท่านแรก เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๔
การศึกษาในระยะแรก ทางแผนกจักษุวิทยา ได้มีการจัดระบบการเรียนการสอนทั้งในระดับแพทยศาสตร์บัณฑิต บัณฑิตศึกษา และหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านจักษุวิทยา ตามกฎเกณฑ์ของแพทยสภา โดยการผสมผสานจากผลการเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศของอาจารย์ในแผนก และนำประสบการณ์มาประยุกต์ในการเรียนการสอนตามลำดับ ในช่วงนั้น อาจแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งจากประเทศในทวีปยุโรป คือ ประเทศเยอรมันตะวันตก (ในขณะนั้นประเทศเยอรมันยังแบ่งออกเป็นประเทศเยอมันตะวันตกและประเทศเยอรมันตะวันออก) ประเทศออสเตรีย ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสหราชอาณาจักร และอีกกลุ่มหนึ่งจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้การศึกษาวิชาจักษุวิทยาของภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอาจถือได้ว่าเป็นแม่แบบของการศึกษาวิชาจักษุวิทยาในประเทศไทย
ด้านการดูแลผ้ป่วย แผนกจักษุวิทยามีตึกรับผู้ป่วยของแผนกอยู่ ๒ ตึกให้บริการร่วมกับ แผนกโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา ตึกแรก คือ ตึกจักษุ ความสูง ๓ ชั้น และตึกที่สอง ซึ่งอยู่ขนานใกล้เคียงกัน ชื่อ ตึกพลอย จาตุรจินดา ความสูง ๓ ชั้นเช่นกัน (ตึกทั้งสองใช้งานมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างเป็นตึกเฉลิมพระเกียรติ) และ สำนักงานภาควิชาจักษุวิทยาในขณะนั้น ตั้งอยู่ที่ ชั้นที่สองของตึกผ่าตัดศัลยศาสตร์หลังเดิม ห้องผ่าตัดทั้งตา และ หู คอ จมูก ตั้งอยู่ในชั้นที่หนึ่งของตึกผ่าตัดศัลยศาสตร์หลังเดิม (ต่อมาถูกทุบเพื่อสร้างเป็นตึกสยามินทร์) สถานที่ตรวจผู้ป่วยนอกเดิมใช้ชั้นล่างของตึกอำนวยการ ต่อมามีการสร้างตึกผู้ป่วยนอกริมแม่น้ำเจ้าพระยา การตรวจผู้ป่วยทางตา จึงย้ายไปใช้ที่ชั้นที่ ๓ ของตึกผู้ป่วยนอกนั้น
ภาควิชาจักษุวิทยาได้ผ่านการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดมา มีอดีตหัวหน้าภาควิชาทั้งหมด ๘ ท่าน จนมีอายุครบ ๕๐ ปี โดยมี ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง งามแข เรืองวรเวทย์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยาในปัจจุบัน มีอาจารย์ประจำภาควิชา ๒๘ ท่าน แยกออกเป็นสาขาวิชาย่อย จำนวน ๘ สาขา ได้แก่ สาขาวิชากระจกตา สาขาวิชาโรคจอตา สาขาวิชาโรคต้อหิน สาขาวิชาโรคประสาทจักษุ สาขาวิชาจักษุวิทยาเด็กและกล้ามเนื้อ สาขาวิชาจักษุวิทยาภูมิคุ้มกันและม่านตาอักเสบ สาขาวิชาศัลยกรรมกระดูกเบ้าตาและตกแต่ง และ สาขาวิชาวัดสายตา เลนส์สัมผัส และสายตาเลือนลาง โดยให้การศึกษาแก่ทั้งนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด (เฟลโลว์) การบริการผู้ป่วยในปัจจุบัน ให้บริการผู้ป่วยนอก ที่ชั้น ๕ อาคารผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ที่ชั้น ๒-๕ อาคารเฉลิมพระเกียรติ และ ชั้น ๙ อาคาร ๘๔ ปี