โรคมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma)

โรคมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma)

 

ศ.พญ.ละอองศรี  อัชชะนียะสกุล

ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

      พบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เป็นอันดับที่ 3 รองลงมาจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวและเนื้องอกในสมอง  พบได้ในเด็กเกิดใหม่ 1 ต่อ 18,000 – 20,000 เพศหญิงและเพศชายพบได้ใกล้เคียงกัน   ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน  1-2  ปี
     โรคมะเร็งจอตาในเด็ก อาจจะเป็นในตาข้างเดียวหรือพร้อมกัน 2 ตา โดยที่ไม่ได้เป็นการกระจายจากตาข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง และอาจพบที่ต่อมไพเนียล ซึ่งเป็นต่อมอยู่ภายในใจกลางสมองร่วมด้วย
      จากการศึกษาของ Knudson มะเร็งจอตาในเด็ก แบ่งชนิดตามการเกิดได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
      1. ชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปยังลูกหลานได้  พบได้ประมาณ  40 % ของผู้ป่วยเป็นได้ทั้งสองตา และเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยที่ตรวจพบและวินิจฉัยโรคได้ค่อนข้างเร็ว คือประมาณ 12 เดือน
       2. ชนิดที่ไม่ถ่ายทอดไปยังลูกหลาน พบได้ประมาณ  60% ของผู้ป่วยมักพบเป็นในตาเพียงข้างเดียว หรือตำแหน่งเดียวในจอตา นอกจากนี้ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่อวัยวะอื่นจะน้อยกว่าชนิดแรก  อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยที่ตรวจพบและวินิจฉัยโรคมักจะช้ากว่าชนิดแรก คือ ประมาณ 24 เดือน
ลักษณะการเจริญของก้อนมะเร็ง มี  2 แบบ
       1. ก้อนมะเร็งทะลุผ่านชั้นจอตาเข้าไปภายในวุ้นตา  ลักษณะที่ตรวจพบเป็นก้อนเนื้อสีขาว  และอาจพบมีการกระจายของเซลล์มะเร็งสีขาวๆ อยู่ในวุ้นตา                                                             
       2. ก้อนมะเร็งเจริญอยู่ภายในชั้นจอตาหรือใต้ต่อจอตา ทำให้จอตาลอก ลักษณะที่ตรวจพบเป็นก้อนเนื้อสีขาวและจอตาคลุมไว้ ถ้าก้อนเจริญเติบโตเร็ว อาจพบหินปูนภายในก้อนเป็นสีขาวคล้ายชอล์คถ้าก้อนมะเร็งเกิดขึ้นบริเวณจุดภาพชัด จะทำให้ระดับการมองเห็นลดลงมาก  อาจทำให้เกิดภาวะตาเหล่ในเด็กได้  เด็กที่ตาเหล่ทุกรายจึงต้องได้รับการขยายรูม่านตาตรวจจอตา เพื่อคัดกรองภาวะมะเร็งจอตา
อาการที่สำคัญและพบได้บ่อย ได้แก่
      1. การตรวจพบรูม่านตาเป็นสีขาว ซึ่งเกิดจากแสงที่สะท้อนจากก้อนมะเร็งจอตา  เป็นอาการนำที่พบบ่อยที่สุด โดยพบถึง 50-60 % ผู้ป่วยจะมีลักษณะตาวาว  สีขาวๆ กลางตาดำ
      2. ภาวะตาเหล่พบได้เป็นอันดับรองลงมา ประมาณ 20 - 30 %
      3. ตาอักเสบตาแดง  ม่านตา 2 ข้างสีไม่เหมือนกัน  เกิดจากการที่มีหลอดเลือดฝอยมากผิดปกติที่ม่านตา หรือมีเลือดออกในช่องหน้าม่านตา หรือต้อหิน เป็นต้น
      4. ปวดตา  และมีการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆลูกตา
      5. อาการอื่นๆ ในรายที่มีการกระจายของมะเร็งไปนอกลูกตา เช่น ตาโปน  เนื่องจากก้อนมะเร็งลามออกมาในเบ้าตา ผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปที่สมองอาจมีอาการ ชัก  หรือแขน ขาอ่อนแรง หากมีการกระจายไปที่กระดูก อาจคลำก้อนได้ที่ศีรษะหรือลำตัว ถ้ามีการกระจายไปที่ตับอาจคลำก้อนได้ในช่องท้อง เป็นต้น
      6. ลูกตาฝ่อ พบได้น้อย เกิดจากการที่ก้อนมะเร็งโตเร็ว ทำให้ขาดเลือดมาเลี้ยงที่ก้อน เมื่อเซลล์มะเร็งตาย จะปล่อยสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ เป็นผลให้ลูกตาฝ่อ
การวินิจฉัยโรค
      โดยทั่วไปแพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยการตรวจตาอย่างละเอียดเนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งจอตาส่วนใหญ่พบในเด็กเล็ก ดังนั้นนอกจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายแล้ว  สิ่งที่ควรทำในผู้ป่วยทุกรายที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้คือการดมยาสลบเพื่อทำการตรวจตาผู้ป่วยอย่างละเอียดดังนี้
      1.  การตรวจบริเวณรอบๆ ลูกตา และการวัดความดันตา
      2.  การตรวจส่วนหน้าของลูกตา
      3.  การขยายรูม่านตา ตรวจจอตา
การตรวจพิเศษอื่นๆ ที่ช่วยในการวินิจฉัย
      1. การตรวจตาด้วยคลื่นเสียง สามารถทำได้โดยผู้ป่วยไม่ต้องดมยาสลบช่วยบอกขนาดของก้อน และตรวจหาการสะสมของหินปูนภายในก้อน
      2. การตรวจตาและสมอง ด้อยเครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูการกระจายของโรคไปยังสมองและภายในเบ้าตา
      3. การตรวจตาและสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อาจช่วยให้ตรวจพบการกระจายไปยังเส้นประสาทตาและสมองได้ชัดเจนกว่าการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์
     ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าโรคอาจมีการกระจายไปนอกลูกตาแล้ว  อาจทำการตรวจน้ำไขสันหลัง ตรวจไขกระดูก และการทำเอ็กซ์เรย์กระดูกทั่วร่างกาย 
การวินิจฉัยแยกโรค Retinoblastoma
      เนื่องจากโรคตาในเด็กหลายโรคที่อาจตรวจพบลักษณะตาวาวคล้ายโรค มะเร็งจอตาในเด็ก  แต่การรักษาและการพยากรณ์โรคต่างกันอย่างสิ้นเชิง  ดังนั้นหากวินิจฉัยแยกโรคได้ถูกต้องผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง  ตัวอย่างโรคที่แยกจากมะเร็งจอตาในเด็ก  มี 3 โรคดังนี้
      1. ความผิดปกติในการเจริญของวุ้นตาแต่กำเนิดมักพบในตาข้างเดียว  ตาที่เป็นโรคนี้จะมีขนาดเล็กกว่าปกติ  และไม่พบหินปูนภายในลูกตา ลักษณะตาวาวที่พบเกิดจากพังผืดที่อยู่หลังเลนส์ตาและต้อกระจกที่อาจพบร่วมด้วย
       2. ลูกตาอักเสบจากพยาธิตัวกลมลักษณะที่ต่างจากมะเร็งจอตาในเด็กคือมีการอักเสบในลูกตาร่วมกับอาการปวดตาและแพ้แสง  เมื่อตรวจตาจะพบลักษณะที่บ่งถึงการอักเสบ เช่น ตรวจพบเซลล์ที่เกิดจากการอักเสบภายในวุ้นตา อาจพบก้อนบริเวณจอตาร่วมกับมีการดึงรั้งจอตา ซึ่งไม่ค่อยพบในมะเร็งจอตาในเด็ก  การตรวจเลือดหาการติดเชื้อพยาธิจะให้ผลบวก
       3. ความผิดปกติแต่กำเนิดของหลอดเลือดที่จอตา ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายและมักเป็นตาข้างเดียว  ตรวจตาพบไขมันรั่วจากหลอดเลือดที่ผิดปกติเห็นเป็นสีเหลืองใต้จอตา ลักษณะเด่นของโรคนี้คือการตรวจพบ หลอดเลือดของจอตามีการโป่งพอง ซึ่งจะพบน้อยมากในโรคมะเร็งจอตาในเด็ก
การรักษา
       ทางเลือกวิธีรักษาในปัจจุบัน  แนวทางการรักษามีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาดและการกระจายของโรค  การเป็นโรคในตาข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง และสภาพร่างกายของผู้ป่วย  
1. การผ่าตัดนำลูกตาออก
       ถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ และไม่สามารถรักษาสภาพการมองเห็นได้แล้ว การรักษาคือ การผ่าตัดนำลูกตาออก  ถือเป็นการผ่าตัดที่ไม่ยาก และแพทย์สามารถใส่ลูกตาปลอมให้เด็กได้ภายใน 3-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด
       การรักษาโดยวิธีนี้จะทรมานจิตใจทั้งผู้ปกครองมากจนบางครั้งผู้ปกครองบางคนปฏิเสธการรักษา และเปลี่ยนไปรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ  หรือนำเด็กกลับไปอยู่บ้าน  และกลับมาพบแพทย์อีกครั้ง เมื่อมะเร็งแพร่กระจายไปมาก จนอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้ามะเร็งเป็นมากจนมีข้อบ่งชี้ว่าต้องผ่าตัดเอาลูกตาออก ก็ควรจะทำ เพื่อที่จะรักษาชีวิตของเด็กเอาไว้ ส่วนเรื่องที่ไม่มีดวงตานั้น แพทย์สามารถใส่ตาปลอมที่เป็นพลาสติกแทนได้ ทำให้เด็กไม่มีปัญหาเรื่องความสวยงาม ที่สำคัญอย่าพาเด็กไปอยู่บ้านเฉยๆ เพราะเด็กจะเป็นมากจนเสียชีวิตได้ แทนที่จะเสียดวงตาเท่านั้น
2. รังสีรักษา         
      โดยทั่วไปถือว่าโรคมะเร็งจอตาในเด็ก  เป็นมะเร็งที่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการฉายรังสี อย่างไรก็ตาม
      ภาวะแทรกซ้อนของการฉายรังสี  คืออาจทำลายเนื้อเยื่อใกล้เคียง ก่อให้เกิดเป็นต้อกระจกในภายหลังได้ และอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อจอตาได้เช่นกัน นอกจากนี้ การฉายรังสีจะมีผลต่อการเจริญของเนื้อเยื่อกระดูกที่อยู่ใกล้ ๆ ลูกตา อาจทำให้เกิดมะเร็งกระดูกได้
3. เคมีบำบัด
      ในปัจจุบันการรักษาโดยวิธีนี้  ช่วยให้หลีกเลี่ยงการฉายรังสีหรือการผ่าตัดนำลูกตาออกได้ในผู้ป่วยบางราย ยาเคมีบำบัดที่ใช้มีหลายชนิด ซึ่งจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ทำให้อาจเกิดผลข้างเคียงได้มากผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
4. การวางแร่
        เป็นวิธีที่ให้รังสีรักษาเฉพาะที่บริเวณก้อนมะเร็ง ซึ่งมีขนาดปานกลาง  ข้อดีของวิธีนี้คือผู้ป่วยไม่เสี่ยงต่อภาวะผิดปกติของกระดูกเบ้าตา
        ภาวะแทรกซ้อน : อาจเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในจอตา
5. การรักษาด้วยแสงเลเซอร์
        เป็นการรักษาโดยใช้ลำแสงเลเซอร์ เพื่อทำลายก้อนมะเร็งขนาดเล็ก
        ภาวะแทรกซ้อน : อาจเกิดจอตาฉีกขาด, จอตาลอกหลุด
6. การจี้ด้วยความเย็น
        เป็นการรักษาโดยใช้ความเย็นทำลายเซลล์มะเร็ง การรักษาด้วยวิธีการจี้ความเย็นใช้ได้กับก้อนมะเร็งขนาดเล็ก
        ภาวะแทรกซ้อน: อาจเกิดจอตาฉีกขาด, จอตาลอกหลุด, ม่านตาอักเสบ

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด