ครั้งแรกของไทย ปลูกถ่ายกระจกตาด้วยเลเซอร์

ครั้งแรกของไทย ปลูกถ่ายกระจกตาด้วยเลเซอร์


รศ.นพ.สบง ศรีวรรณบูรณ์,รศ.พญ.ภิญนิตา ตันธุวนิตย์
รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์,อ.พญ.สุขศรี โชติกวณิชย์
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


             ข่าวดี สำหรับผู้ที่สูญเสียการมองเห็น ขณะนี้จักษุแพทย์ไทย ประสบความสำเร็จในการนำเลเซอร์มาใช้ในการปลูกถ่ายกระจก ทำให้ผู้ที่อยู่ในโลกมืด สามารถมองเห็นได้อีกครั้ง

เข้าใจโรคของกระจกตา
            กระจกตาหรือตาดำคือส่วนหน้าของดวงตา ซึ่งดวงตานั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหน้าสุดคือกระจกตา ส่วนกลางคือเลนส์แก้วตา และด้านในสุดเป็นจอตา เรามักคุ้นหูแต่คำว่าเลนส์ตาขุ่นมัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุทำให้มองไม่ค่อยเห็นหรือที่เรียกว่าภาวะต้อกระจก ซึ่งการทำผ่าตัดลอกต้อกระจกร่วมกับการใส่เลนส์แก้วตาเทียมก็สามารถทำให้มีการมองเห็นที่ดีขึ้น ส่วนภาวะการขุ่นขาวของกระจกตาจะต่างจากโรคต้อกระจก เนื่องจากเป็นพยาธิสภาพของกระจกตาทางด้านหน้าที่มีการขุ่นขาวไม่ใช่ที่เลนส์ตา ทำให้ความสามารถในการมองเห็นน้อยลงหรือไม่ชัดนั่นเอง อุบัติการณ์สำหรับโรคความขุ่นของกระจกตานั้นพบได้ทุกเพศ ทุกวัย
             
            สาเหตุที่ทำให้กระจกตาขุ่นขาว ได้แก่ การติดเชื้อ กระจกตาเสื่อม อุบัติเหตุ สารเคมี การอักเสบ และโรคทางพันธุกรรม การรักษาเริ่มตั้งแต่การรักษาทางยา เช่น การหยอดตา และถ้าไม่ดีขึ้นก็สามารถรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาทำได้โดยใช้กระจกตาจากผู้บริจาคมาปลูกถ่ายให้กับคนไข้แทนกระจกตาเดิมที่มีความผิดปกติ ซึ่งสามารถแก้ไขภาวะกระจกตาขุ่นขาวดังที่กล่าวให้กลับมาเห็นได้

           ศูนย์เลสิกศิริราชได้มีการนำเลเซอร์ชนิด Femtosecond laser มาใช้ในการทำเลสิก เพื่อรักษาผู้ที่มีภาวะสายตาผิดปกติทั้งสายตาสั้น ยาว หรือเอียง ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเครื่องเลเซอร์นี้มีใช้ที่ศูนย์เลสิกศิริราชเป็นแห่งแรก และในขณะนี้ก็ยังเป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่นำมาในการทำเลสิก โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 ในปัจจุบันทางศูนย์เลสิกศิริราชยังได้นำ Femtosecond laser มาใช้ในการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาทั้งใช้เตรียมกระจกตาที่ได้จากผู้บริจาคและสำหรับตัดกระจกตาที่ขุ่นขาวของผู้ป่วยออกไป
 
            เหตุที่ใช้ Femtosecond laser สำหรับทำเลสิกและปลูกถ่ายกระจกตา โดยนำมาใช้ตัดหรือกรีดกระจกตาแทนใบมีด เนื่องจากแผลที่ได้จะมีความเรียบและมีการสมานตัวของแผลที่ดีกว่า อีกทั้งแสงเลเซอร์นี้เป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา สำหรับการทำเลสิกเพื่อรักษาภาวะสายตาผิดปกติ ที่สำคัญยังเป็นเทคโนโลยีเดียวในปัจจุบันที่ได้รับการรับรองจากองค์การ NASA ในการรักษาภาวะสายตาผิดปกติสำหรับนักบินอวกาศ เนื่องจากมีความแม่นยำและความปลอดภัยสูง รวมทั้งสามารถใช้รักษาได้ในผู้ที่มีกระจกตาบางหรือมีความโค้งของกระจกตาผิดปกติไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม

            หลักการรักษา หลังจากที่แพทย์ได้รับบริจาคดวงตาแล้ว จะใช้ Femtosecond  Laser มาแยกส่วนของกระจกตาตรงกลาง ซึ่งสามารถกำหนดขนาดและรูปแบบที่ต้องการได้อย่างหลากหลายและแม่นยำ แล้วนำกระจกตามาแช่ในน้ำยาพิเศษชั่วคราว จากนั้นนำคนไข้มาแยกส่วนกระจกตาที่ขุ่นขาวออกด้วย Femtosecond laser เช่นกัน เมื่อแยกชิ้นกระจกตาทั้งของผู้บริจาคและคนไข้เรียบร้อยแล้ว ก็จะนำกระจกตาที่ใสของผู้บริจาคไปปลูกถ่ายบนลูกตาของคนไข้แทน แล้วเย็บปิดแผลโดยรอบ ซึ่งรอยต่อของกระจกตาทั้งสองจะมีความเท่ากันทั้งขนาดและรูปแบบ ทำให้มีแผลหายเร็วขึ้น มีการกลับมามองเห็นเร็วขึ้น แผลปริแยกยากขึ้น ทั้งนี้การผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยที่เซลล์ของกระจกตาที่ได้รับบริจาคมา จะต้องมีคุณภาพที่ดี มีเซลล์เพียงพอสำหรับการปลูกถ่ายให้คนไข้ รวมทั้งคนไข้จะต้องมีจอตาที่ดี จึงจะสามารถเข้ารับการผ่าตัดและได้ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งหลังการผ่าตัดคนไข้จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามน้ำหรือสิ่งสกปรกทุกชนิดเข้าตา ห้ามขยี้ตา และใช้ฝาครอบตาเวลานอน  ไม่ควรใช้สายตาในการจ้องมองมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านหนังสือหรือใช้คอมพิวเตอร์ หยอดยาตามแพทย์สั่ง และนัดตรวจติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยทั่วไปจะมีการมองเห็นที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 6 เดือนหลังการผ่าตัด  
              
           ความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดของการรักษาโรคกระจกตาขุ่นขาว โดยนำเทคนิคใหม่ Femtosecond laser มาช่วยในการรักษา นับเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและประชาชนเป็นอย่างมาก ผู้สนใจสามารถขอรับคำแนะนำได้ที่ ศูนย์รักษาสายตาSiLASIK ตึก 84 ปี ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช โทร.02 419 9275–6

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด