อันตรายจากสารเคมีเข้าตา

อันตรายจากสารเคมีเข้าตา

ผศ.พญ. วิภาวี บูรณพงศ์
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

1. สารเคมีเข้าตาเกิดขึ้นจากสาเหตุใดบ้าง
ตอบ อุบัติเหตุจากสารเคมีเข้าตาพบได้บ่อยเสมอ ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุจากการทำงาน
หรือจากโดนทำร้ายร่างกาย
- อุบัติเหตุจากการทำงาน เช่น โดนสารเคมีที่ใช้ในโรงงานเข้าตา เช่น โรงงานย้อม
สีผ้า หรือ โดนน้ำแบตเตอรรี่รถยนต์เข้าตา พนักงานทำความสะอาดพื้น โดนน้ำยาล้างห้อง น้ำเข้าตา บางรายได้รับสารเคมีผงคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าตา ขณะที่ไปช่วยดับเพลิง แล้วถังคาร์บอนไดออกไซด์ระเบิด
- การโดนทำร้ายร่างกาย เช่น ใช้น้ำกรดสาดหน้า แล้วโดนตาทั้งสองข้าง

2. สารเคมีแบ่งออกเป็นกี่ประเภท มีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ สารเคมีโดยทั่วไปแบ่งออกเป็นสองชนิด คือ กรด และด่าง โดยทั่วไป ด่าง มีความรุนแรงมากกว่ากรด กล่าวคือ สามารถทำลายเปลือกตา เยื่อบุตา ผิวนอกของกระจกตา และยังสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปทำลายลูกตา ทำลายส่วนต่างๆภายในลูกตาได้ เช่น ทำให้เกิดม่านตาอักเสบ ต้อกระจก และต้อหิน ส่วนกรด การทำลายมักจะจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณผิวชั้นนอกของลูกตา เปลือกตา เยื่อบุตา ผิวกระจกตา เนื่องจากคุณสมบัติของกรด เมื่อทำปฏิกิริยากับโปรตีนแล้ว ทำให้โปรตีนแข็งตัวรวมกัน เป็นเหมือนผนังกั้นไม่ให้กรดนั้นซึมผ่านเข้าไปในลูกตาได้อีก เพราะฉะนั้น การทำลายที่เกิดขึ้นกับกรดมักจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณชั้นผิวตื้นๆเท่านั้น อันตรายของสารเคมีเข้าตา ขึ้นอยู่กับความรุนแรง หรือความเสียหายของส่วนประกอบต่างๆขอลูกตา ถ้าเป็นน้อยไม่รุนแรง สามาร๔หายเป็นปกติ ถ้าให้การรักษาที่ถูกต้อง และทันถ่วงที แต่ถ้ารุนแรงมากรักษายาก แม้จะรักษาเต็มที่ ก็อาจจะสูญเสียดวงตา มีภาวะแทรกซ้อนในตามากจนถึงตาบอดในที่สุด

3. ความรุนแรงของการบาดเจ็บทางตาจากสารเคมี ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง
ตอบ ความรุนแรงของการบาดเจ็บทางตาจากสารเคมี ขึ้นอยู่กับ
- ความเป็นกรดหรือ ด่าง ด่างรุนแรงกว่ากรด
- เป็นชนิดกรดอ่อน หรือ กรดแก่ ชนิดด่างอ่อน หรือ ด่างแก่
- ความเข้มข้นของสารเคมี
- ระยะเวลาที่สารเคมีสัมผัสกับดวงตา
แม้ด่างจะรุนแรงกว่ากรด แต่ในรายกรดแก่ และมีความเข้มข้นมากก็จะมีความรุนแรงได้เท่ากับด่าง

4. กลุ่มบุคคลประเภทใด / อาชีพใดที่เสี่ยงต่อการประสบเหตุสารเคมีเข้าตา
ตอบ ส่วนใหญ่บุคคลที่ทำงานกับสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นของเหลว หรือของแข็ง ของแข็งจะมีลักษณะเป็นผง เช่น โซดาไฟ ผงปูน ปุ๋ย ของเหลวที่เป็นสารเคมีทุกชนิด เช่น น้ำยาต่างๆในโรงงาน น้ำจากแบตเตอรี่รถยนต์ ซึ่งพบได้บ่อยมาก น้ำยาฆ่าแมลงที่ใช้ฉีดต้นไม้ นอกจากนี้ในชีวิตประจำวัน ก็อาจจะพบอุบัติเหตุจากสารเคมี เช่น ฉีดยากันยุง แล้วยากันยุงเข้าตา ล้างห้องน้ำ แล้วน้ำยาขัดห้องน้ำเข้าตา ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่พบบ่อย เช่นกัน

5. อาการผิดปกติที่พบเมื่อสารเคมีเข้าตา
ตอบ เมื่อสารเคมีเข้าตา ถ้าโดนเปลือกตา เยื่อบุตา กระจกตาดำ ระยะแรกจะบวมแดง ปวดแสบปวดร้อน เคืองตาน้ำตาไหลมาก และสู้แสงไม่ได้ ถ้าโดนกระจกตาดำจะทำให้สายตาพร่ามัว ถ้าตรวจตา จะพบการมองเห็นลดลง ในรายที่รุนแรงและกระจกตาดำจะเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีขาว เยื่อบุตาอักเสบแดง และผิวหลุดลอก ในรายที่ความเสียหายของตามีมาก จะเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นทำให้เปลือกตาผิดรูปไป มีขนตาม้วนเข้าหาตา หรือม้วนออกตามากเกินไปตาแห้งชนิดรุนแรง เยื่อบุตาติดกับเปลือกตา ทำให้กรอกตาหรือเปิดเปลือกตาไม่ได้ กระจกตาเป็นฝ้าขาว มีเส้นเลือดเข้ามาในกระจกตา กระจกตาบางลงจนถึงทะลุได้ มีต้อหิน และต้อกระจกแทรกซ้อนและตาบอดในที่สุด

6. เมื่อสารเคมีเข้าตาควรทำอย่างไรเป็นอันดับแรก หรือควรมาพบแพทย์ทันทีหรือไม่
ตอบ เมื่อสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา สิ่งที่ต้องกระทำทันที คือ การล้างตาด้วยน้ำสะอาดที่อยู่ใกล้มือที่สุด โดยตัวผู้ป่วยเองหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ถ้าหาน้ำอะไรไม่ได้ให้หาน้ำประปาล้างมากๆ ทำอยู่นาน 20 - 30 นาที ขึ้นอยู่กับสารเคมีที่เข้าตารุนแรงหรือไม่ และปริมาณสารเคมีที่เข้า การใช้น้ำล้างมากๆตั้งแต่แรก เพื่อลด หรือละลายความเข้มของสารเคมีที่เข้าตา ถือเป็นการรักษาที่สำคัญมากที่สุดและได้ผลดีที่สุด เป็นการช่วยลดความรุนแรงของสารเคมีที่จะทำลายส่วนต่างๆของตา ป้องกันไม่ให้แทรกซึมผ่านเข้าไปในลูกตา ขณะที่ล้างตา ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ ให้ใช้ไม้พันสำลีเช็ดออก และล้างน้ำมากๆ   การล้างตาจึงจำเป็นต้องใช้น้ำสะอาดล้างทันที มากๆนานๆ ก่อนที่จะพบจักษุแพทย์ ถ้ารอพบจักษุแพทย์โดยไม่ล้างตามาก่อน สารเคมีจะซึมผ่านเข้าตา เกิดการทำลายเยื่อบุ ตากระจกตา ส่วนต่างๆของตา ทำให้เกิดความเสียหายยากต่อการรักษาแก้ไข และเมื่อมาพบ จักษุแพทย์ก็จะรีบล้างตาให้อีกครั้ง ผู้ป่วยมักจะปวดและเคืองตา จึงมักหยอดยาชาให้ก่อนแล้วใช้เครื่องมือเล็กๆถ่างเปลือกตาไว้ เพื่อให้ล้างได้สะอาด ใช้น้ำเกลือเป็นขวด ต่อสายยางจากขวดมาเปิดที่ตา ในรายที่ไม่รุนแรง จะใช้เวลาล้างตาประมาณ 30 นาที หรือใช้น้ำประมาณ 2 ลิตร ถ้ารุนแรง อาจจะต้องล้างนาน 2-4 ช.ม. หรือใช้น้ำ 8-10 ลิตร ขณะที่ล้าง แพทย์จะใช้ไม้พันสำลีเช็ดเอาสิ่งแปลกปลอมต่างๆออกจากตาให้หมด และตรวจค่าความเป็นกรดด่าง โดยใช้แผ่นกระดาษทดสอบเป็นระยะๆจะกระทั่งเป็นกลาง จึงหยุดล้าง และตรวจตาซ้ำอีกครั้ง โดยพลิกเปลือกตาดูให้ละเอียด ถ้ามีสิ่งแปลกปลอม หรือ เนื้อเยื่อที่ตายแล้วยังติดค้างอยู่ ก็ต้องเอาออกให้หมด ตรวจความเสียหายของส่วนต่างๆในตา และเริ่มให้การรักษาด้วยยาหยอดตาลดอาการอักเสบ และป้องกันการติดเชื้อ ให้ยาแก้ปวด

7. ลักษณะอาการอย่างไรที่ควรรีบมาพบแพทย์
ตอบ เมื่อสารเคมีเข้าตา ผู้ป่วยควรมาพบจักษุแพทย์ทันทีหลังจากล้างตามากๆ ด้วยน้ำสะอาดมาก่อน เพื่อให้แพทย์ล้างตาอีกครั้ง จนสภาพตาเกิดภาวะเป็นกลาง พร้อมทั้งเอาสิ่งแปลกปลอมออกให้หมด ตรวจสภาพตาว่ามีความผิดปกติที่ส่วนไหนของลูกตาบ้าง และรีบให้การรักษาทันที เพื่อลดความรุนแรงหรือความเสียหายที่เกิดภายในลูกตา ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวแล้วข้างต้น

8. ข้อควรระวังและวิธีการป้องกันไม่ให้สารเคมีเข้าตา
ตอบ การทำงานที่มีสารเคมีทุกชนิดเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ปฏิบัติงานควรสวมแว่นตา หรือ หน้ากาก และสวมถุงมือไว้ป้องกันตัว และข้อที่สำคัญ ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท

9. ข้อแนะนำช่วงท้ายรายการ
ตอบ อันตรายจากสารเคมีเข้าตา เป็นเรื่องที่พบกันอยู่เสมอ ความรุนแรงของอันตรายที่เกิดขึ้นในตา อาจถึงกับสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร การรักษาที่สำคัญและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ช่วยลดความรุนแรงของการทำลาย และลดโอกาสเกิดตาบอด คือ การล้างตาด้วยน้ำสะอาดโดยทันที ล้างมากๆ ล้างนานๆ 20-30 นาที ต้องลืมตา และกรอกตาในน้ำ เปลี่ยนน้ำบ่อยๆ หลังจากนั้นรีบไปพบจักษุแพทย์ เพื่อรักษาทันที ก็จะช่วยให้ตาคู่สวยนั้นยังสามารถมองโลกอันสดใส สวยงามได้อีกต่อไป

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด