ประวัติภาควิชา

ประวัติภาควิชานิติเวชศาสตร์

             ภาควิชานิติเวชศาสตร์เดิมเป็น สาขาวิชานิติเวชวิทยาของแผนกพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์  ดำเนินงานทางด้านนิติเวชศาสตร์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2495  โดยมี นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน เป็นหัวหน้าสาขาวิชาท่านแรกและเป็นอาจารย์ผู้ปฏิบัติงานทางด้านนี้แต่เพียงผู้เดียว มีหน้าที่ในการตรวจศพเฉพาะทางนิติเวชวิทยา และชันสูตรของกลางที่ตำรวจส่งมาตรวจเท่านั้น

ต่อมาได้รับอนุมัติให้ทำการสอนวิชานิติเวชวิทยาแก่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 จึงถือได้ว่าท่านอาจารย์เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกสาขาวิชานี้อย่างเป็นรูปธรรมในแผนกพยาธิวิทยา และได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชานิติเวชวิทยาของศิริราช นอกจากนี้ยังนับได้ว่าท่านอาจารย์เป็นปูชนียบุคคลและเป็นบุคคลแรกที่ทำการสอนวิชานิติเวชศาสตร์ในประเทศไทยด้วย

เมื่องานบริการทั้งทางด้านคลินิกและห้องปฏิบัติการสาขาวิชานิติเวชวิทยาขยายออกไป  รวมทั้งมีการตรวจศพทางคดี  ตลอดจนผลงานต่าง ๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการที่เกี่ยวข้อง  คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลจึงมีมติให้จัดตั้งเป็น “แผนกนิติเวชวิทยา” และได้มีพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน เป็นหัวหน้าแผนกท่านแรก ได้ปรับปรุงขยายกิจการในทุกด้าน เช่น จัดตั้งพิพิธภัณฑ์นิติเวชวิทยา  จัดตั้งหน่วยพิษวิทยา การชันสูตรโครงกระดูกโดยการถ่ายภาพเชิงซ้อน การพิสูจน์หลักฐานการเป็นพ่อแม่ลูก และการชันสูตรบาดแผล เป็นต้น

พ.ศ. 2511 แผนกนิติเวชวิทยาได้รับอนุมัติงบประมาณเป็นเงินประมาณ 3 ล้านบาท ให้ก่อสร้างตึกนิติเวชวิทยา  โดยสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการได้เมื่อปี พ.ศ. 2512

พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็น “มหาวิทยาลัยมหิดล”  ให้ใช้ตราประจำพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนก เป็นตรามหาวิทยาลัยด้วย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฏีกา (พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512) สถาปนามหาวิทยาลัยมหิดล เปลี่ยนชื่อคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล เป็น “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” และเปลี่ยนชื่อแผนกวิชา เป็น “ภาควิชา” เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2512 นับได้ว่าภาควิชานิติเวชวิทยา เป็นสถาบันแห่งแรกของวิชานี้ในประเทศไทย  ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับ จนเป็นที่ยอมรับของศาลและสถาบันการ ศึกษาอื่น ๆ เป็นอย่างดี ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 จึงได้เปลี่ยนชื่อภาควิชานิติเวชวิทยา เป็น “ภาควิชานิติเวชศาสตร์”

พ.ศ. 2534  ได้มีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้เป็นอาคารเรียนรวมทางปรีคลีนิก  รองรับการขยายงานทางด้านการบริการ การวิจัย การศึกษา และการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ โดยแล้วเสร็จใน พ.ศ.2541

             ปัจจุบัน ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่ที่ตึกอดุลยเดชวิกรม บนพื้นที่บางส่วนของชั้น 1 ประกอบด้วย ศูนย์ประชาสัมพันธ์นิติพยาธิ ห้องตรวจผู้ป่วยคดี  ห้องตรวจศพ ห้องเก็บศพ ชั้น 2 ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ สงกรานต์ นิยมเสน ของภาควิชานิติเวชศาสตร์ ชั้น 9 ประกอบด้วย สำนักงานภาควิชา ห้องพักอาจารย์ นักศึกษา ห้องประชุม ห้องบรรยาย ห้องสันทนาการ และห้องปฏิบัติการสาขาวิชาต่าง ๆ

ภาควิชานิติเวชศาสตร์  ได้มีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตแพทย์มาตั้งแต่ พ.ศ.2495 จนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มรับแพทย์ประจำบ้านมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2499 และเริ่มมีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน  ตามแนวทางของแพทยสภาทุกปี  นอกจากนี้  ยังจัดให้มีหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (สาขานิติเวชศาสตร์) ของบัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ พ.ศ. 2508  และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิติวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520

พ.ศ. 2489 ประวัติครั้งสำคัญได้ถูกจารึกไว้ในวงการนิติเวชศาสตร์ เมื่อรัฐบาลสมัยนายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ได้มีคำสั่งจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์สวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยมีคณะกรรมการแพทย์ทั้งหมด 21 ท่าน  โดยมี นายแพทย์สงกรานต์  นิยมเสน เป็นผู้ร่วมทำการผ่าชันสูตรพระบรมศพ  ตามหลักวิชาการทางด้านนิติเวชศาสตร์  ณ พระที่นั่งพิมานรัถยา  ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเทวี ประทับและนั่งเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยคณะกรรมการสอบสวนฯ  กรณีดังกล่าวเป็นผลทำให้งานด้านนิติเวชเป็นที่ยอมรับว่ามีความสำคัญสำหรับวงการแพทย์  และกระบวนการยุติธรรมอย่างเห็นได้ชัดเจน