การตรวจพิสูจน์ ดีเอ็นเอ

การตรวจพิสูจน์ ดีเอ็นเอ


อาจารย์นายแพทย์วรวีร์  ไวยวุฒิ

ภาควิชานิติเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 

          ความหมายง่าย ๆ  ของดีเอ็นเอ คือ ตัวกำหนดลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นลักษณะที่ปรากฏออกมาเป็นรูปลักษณ์ภายนอกหรือลักษณะที่มองไม่เห็นซึ่งอยู่ภายใน  สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรค ต้นไม้ สัตว์ต่าง ๆ รวมถึงมนุษย์จะถูกกำหนดลักษณะต่าง ๆ โดยดีเอ็นเอ  ดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมในร่างกายมนุษย์นั้นจะบรรจุอยู่ในแกนกลางของเซลล์ ซึ่งเปรียบเหมือนไข่แดงที่เราเห็น ๆ กันอยู่ทุกวัน สำหรับเซลล์ต่าง ๆ นั้นก็จะประกอบขึ้นเป็นอวัยวะต่าง ๆ และรวมกันเป็นร่างกายของมนุษย์ ดังนั้น ในทุกส่วนของร่างกายไม่ว่าจะเป็นเศษชิ้นเนื้อ เส้นผม ผิวหนัง เลือด น้ำเหลืองหรือน้ำลาย เป็นต้น ก็จะมีดีเอ็นเอประกอบอยู่ทั้งสิ้น ปัจจุบันการนำเอาดีเอ็นเอมาใช้ในวงการแพทย์นั้นมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก รวมถึงการนำเอาดีเอ็นเอมาใช้เพื่อช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมด้วย ดังคดีต่าง ๆ ในปัจจุบันซึ่งเป็นที่สนใจกันอย่างมาก ก็นำเอาวิทยาการด้านนี้เข้ามาช่วยพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าคราบเลือดที่เกิดขึ้นเป็นของใคร เส้นผมในที่เกิดเหตุเป็นของผู้ใด เป็นต้น มีคำถามเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ คำถามที่ค้างคาใจหลาย ๆ คนก็คือ เชื่อถือได้แค่ไหน ปลอมได้ไหม ทำนานแค่ไหน ฯลฯ
            เพื่อให้เข้าใจถึงการตรวจคงต้องเข้าใจถึงกระบวนการในห้องปฏิบัติการเสียก่อน ในกระบวนการตรวจนั้น จะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ
1. สกัดดีเอ็นเอออกจากสิ่งที่ตรวจ เช่น เลือด เส้นผม ชิ้นเนื้อ ฯลฯ ในขั้นตอนนี้ใช้เวลาตั้งแต่  1 ชั่วโมงจนถึงเป็นวันเลยก็มี ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่ตรวจเป็นอะไร  มีสภาพอย่างไร
2. เมื่อได้ดีเอ็นเอต้นแบบมาแล้วก็จะต้องเพิ่มจำนวนเสียก่อน โดยเทคนิคการเพิ่มจำนวนสายดีเอ็นเอ หรือ Polymerase chain reaction (PCR) ตรงนี้ระยะเวลาจะคงที่ ประมาณ 3 ชั่วโมง
3. การแปลผลจะมีทั้งแบบใช้คนวิเคราะห์ (Manual) และแบบอัตโนมัติ โดยใช้เครื่องมืออัตโนมัติ ซึ่งเรียกว่า Automate Sequencer ขั้นตอนนี้จะได้ผลออกมาเพื่อใช้เปรียบเทียบและแปลผล โดยถ้าเป็นเครื่องอัตโนมัติ จะใช้เวลา ½ - 1 ชั่วโมงต่อ 1 ตัวอย่าง ซึ่งเร็วกว่าแบบ Manual เครื่องมือ Automate Sequencer  จะมีใช้อยู่ในสถาบันต่าง ๆ เช่น สถาบันนิติเวช, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลเชียงใหม่, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลศิริราช  เป็นต้น โดยจะเป็นเครื่องมือที่มีหลักการและมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะตรวจที่ใดก็จะได้ผลเป็นอันเดียวกัน แต่เวลาที่ใช้ในการตรวจจะช้าหรือเร็วคงขึ้นอยู่กับว่ามีตัวอย่างที่ต้องตรวจมากเพียงใด อาจจะใช้เวลาเพียงแค่ 6-8 ชั่วโมง หรือเป็นสัปดาห์ก็ได้ แต่จริง ๆ
            แล้วนั่นไม่ใช่หลักสำคัญของการตรวจดีเอ็นเอ หลักสำคัญจริง ๆ แล้วคือ ความแน่นอน สถาบัน  ทุก ๆ  แห่งจะเน้นความถูกต้องและแน่นอนเป็นหลัก ดังนั้น การตรวจไม่ว่าสถาบันใดผลที่ออกมาย่อมเหมือนกัน มีมาตรฐานที่เท่ากัน สำหรับคำถามที่ทุกคนอยากรู้ว่าปลอมหรือไม่ คงจะต้องตอบว่า ปลอมได้  เหมือนกับที่ทุก ๆ คนเคยเห็นธนบัตรปลอมกระทั่งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกายังปลอมได้ เพียงแต่ว่าเมื่อปลอมได้ก็มีวิธีพิสูจน์ได้ และวิธีพิสูจน์นั้นง่ายกว่าการดูธนบัตรปลอมมากมาย และเนื่องจากการตรวจพิสูจน์นั้นมีสถาบันเพียงไม่กี่แห่งที่ทำการตรวจพิสูจน์ จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้เลยในสถาบันที่อ้างถึงในบทสรุปการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอนั้นไม่ใช่ว่าจะใช้ในการตรวจพิสูจน์บุคคล พิสูจน์พยานหลักฐานต่าง ๆ  หรือการตรวจพิสูจน์เครือญาติเป็นการ

ตรวจที่น่าเชื่อถือมากที่สุดและดีที่สุดในปัจจุบัน
ภาคผนวก  
             ตัวอย่างในการตรวจพิสูจน์พยานวัตถุจากช่องคลอดในคดีข่มขืนกระทำชำเรา
ตัวอย่างการพิสูจน์ 
ตัวอย่างแรก คือ แบบแผนดีเอ็นเอ จากผู้เสียหาย (ฝ่ายหญิง)
                               ตัวอย่างที่สอง คือ แบบแผนดีเอ็นเอ จากตัวอสุจิที่ได้จากช่องคลอดผู้เสียหาย
                               ตัวอย่างที่สาม คือ แบบแผนดีเอ็นเอ จากผู้ต้องสงสัย คนที่ 1
                               ตัวอย่างที่สี่  คือ แบบแผนดีเอ็นเอ จากผู้ต้องสงสัย คนที่ 2

*สรุปได้ว่า    ผู้ต้องสงสัยคนที่ 1 ไม่ใช่ผู้ต้องหา แต่ผู้ต้องสงสัยคนที่ 2 น่าจะเป็นผู้ต้องหาตัวจริง*

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด