29 มกราคม 2551
ต้อนรับผู้ได้รับพระราชทาน
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี’ 50

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535  โดยการดำเนินงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา ซึ่งมีผู้ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2550 ดังนี้

สาขาการแพทย์ ศาสตราจารย์ ดร.อักเซล อูลล์ริช   (Professor Dr. Axel Ullrich)   ผู้อำนวยการสถาบันชีวเคมีมักซ์พลั้งค์   (Max Planck Institute of Biochemistry)  สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี

ศาสตราจารย์ ดร.อักเซล อูลล์ ริช  เป็นผู้นำด้านการศึกษากลไกหลักของการเกิดเซลล์มะเร็ง  และที่สำคัญเป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า  (Targeted cancer therapy) เป็นการเปิดศักราชใหม่ของการรักษาโรคมะเร็ง   ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความปลอดภัยมากขึ้น  เนื่องจากยารักษานี้ไม่ส่งผลร้ายต่อเซลล์ปกติ  ทำให้ผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งลดลง

สาขาการสาธารณสุข ศาสตราจารย์นายแพทย์ เบซิล สจ๊วต เฮทเซล  (Professor Basil Stuart Hetzel) ประธานเกียรติคุณ สภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ  ประเทศออสเตรเลีย

ศาสตราจารย์นายแพทย์ เบซิล เฮทเซล  เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงผลของการขาดสารไอโอดีนที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์  โดยเฉพาะต่อการพัฒนาของสมอง  รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการรณรงค์แก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนระดับโลก

สาขาการสาธารณสุข นายแพทย์ ซานดุ๊ก รูอิท (Dr. Sanduk  Ruit) ผู้อำนวยการศูนย์จักษุทิลกานกา  (Tilganga Eye Centre)  กรุงกาฐมาณฑุ  ประเทศเนปาล

นายแพทย์ ซานดุ๊ก รูอิท   ได้พัฒนาวิธีการผ่าตัดต้อกระจกแบบที่ไม่ต้องเย็บ  (suture-less operation)  ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง  ใช้เวลาการผ่าตัดน้อย    ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยต้อกระจกในพื้นที่ห่างไกลได้  จำนวนมาก  นายแพทย์ ซานดุ๊ก รูอิท    ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการผลิตเลนส์ตาเทียม  (intraocular lens)  ซึ่งมีคุณภาพสูงขึ้นได้ในประเทศกำลังพัฒนา  โดยเริ่มที่ประเทศเนปาล  เลนส์ที่ผลิตขึ้นนี้มีราคาถูกกว่าเลนส์ตาเทียมที่นำเข้าถึง 50 เท่า  ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากสามารถเข้าถึงการรักษาโดยวิธีการดังกล่าวได้

โดยผู้รับรางวัลจะได้รับประกาศนียบัตร เหรียญรางวัล และเงินรางวัลมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งพิธีมอบรางวัลฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในวันที่ 30 มกราคม 2551 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  โดยรางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลระดับโลก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นผู้ริเริ่มเพื่อเฉลิมฉลองเกียรติในวโรกาสครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมราชชนก คณะฯ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ เชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับในวันอังคารที่ 29 มกราคม 2551 ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีกำหนดการในวันดังกล่าวดังนี้

09.30 น.            -   ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2550 เดินทางมาถึงโรงพยาบาลศิริราช

     โดยรถยนต์หลวง

                            -    ผู้บริหารทางคณะฯ ให้การต้อนรับ ณ หน้าตึกอำนวยการ

                            -    ถวายบังคมพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

                            -    เยี่ยมชมห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2

10.45 น.         -    Meet the Press ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2

(คณะฯ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการชั้น 2)

13.30 น.            -    บรรยายวิชาการ ณ หอประชุมราชแพทยาลัย

15.30 น.         -   เดินทางกลับโรงแรมโอเรียนเต็ลโดยรถยนต์หลวง