ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดรักษานอนกรน
เรื่อง การผ่าตัดรักษานอนกรน
ผศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ
นอนกรน เป็นอาการที่บอกว่า กำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งหย่อนตัวลงในขณะนอนหลับ และ ซึ่งเป็นอาการ
สำคัญอย่างหนึ่งของ โรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) ซึ่งพบได้บ่อยมาก ทุกเพศ ทุกวัย
ตั้งแต่เด็ก จนถึงผู้สูงอายุ
นอนกรนนอกจากทำให้เกิดความรำคาญ หรือเสียบุคลิกภาพ อาจสร้างปัญหาครอบครัว หรือสังคม และหากพบว่ามีภาวะหยุดหายใจ
ขณะหลับร่วมด้วย อาจทำให้มีอาการไม่สดชื่น หรือง่วงนอนมากผิดปรกติ ลดประสิทธิภาพการทำงาน และ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อ
โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ อัมพฤกษ์อัมพาต ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
และรวมถึงเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจราจรด้วย ที่สำคัญถ้าเกิด ในเด็กอาจทำให้มีพัฒนาการทั้งทางร่างกาย และสติปัญญา ผิดปรกติ ปัสสาวะรดที่นอน
หรือ มีพฤติกรรมก้าวร้าวซุกซน (hyperactive) และมีผลการเรียนแย่ลงหรือมีปัญหาสังคมได้
จุดเน้นของภาควิชาภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
1. ด้านการบริการตรวจรักษานอนกรนอย่างครบวงจร ทั้งด้านการวินิจฉัย และการรักษา ในช่วงปี 2551-2553 มีผู้มารับการตรวจ
รักษาเรื่อง เกี่ยวกับ นอนกรน ที่ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา รวมทั้งหมด ประมาณ 1200 ราย แยกเป็นผู้ใหญ่ประมาณ 1000 ราย และ
ผู้ป่วยเด็ก 200 ราย
2. การตรวจทางเดินหายใจตั้งแต่ จมูก ช่องปาก ลำคอ กล่องเสียง อย่างละเอียด รวมการส่องกล้องพิเศษ ทำให้มั่นใจว่า ไม่พบโรค
ร้ายแรง เช่น เนื้องอก บริเวณนี้ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการหยุดหายใจได้
3. มีบริการตรวจ sleep test ได้หลากหลาย เช่น อาจตรวจในห้องที่ทำไว้เฉพาะ หรือตรวจด้วยเครื่องตรวจแบบไร้สายและเคลื่อน
ที่ได้ (mobile test) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสะดวกสบายและหลับได้เป็นธรรมชาติมากกว่า
4. มีทางเลือกการรักษาที่หลากหลาย ตั้งแต่การใช้ยา หรือเครื่องมือพิเศษ ตลอดจนการผ่าตัดครบทุกชนิด
5. มีความก้าวหน้าในการรักษานอนกรนด้วยการผ่าตัด สำหรับการผ่าตัดอื่น ๆ ที่นิยมทำได้แก่
5.1 การใช้คลื่นความถี่วิทยุ จี้บริเวณเนื้อเยื่อทางเดินหายใจส่วนต้น เป็นการรักษาที่นิยมอย่างมาก ในปัจจุบัน โดยวิธีเป็นการใช้
เทคโนโลยีใหม่เพื่อรักษานอนกรนและมีความปลอดภัยสูง ขั้นตอนการรักษาด้วยวิธีนี้ คือจะใช้เข็มชนิดพิเศษ ซึ่งสามารถปล่อยพลังงาน
วิทยุ สอดเข้าไปในเนื้อเยื่อใต้เยื่อบุผิว หรือตกแต่งบางส่วนของเนื้อเยื่อในบริเวณที่ต้องการ เช่น จมูก เพดานอ่อน โคนลิ้น จะช่วยให้ทางเดิน
หายใจส่วนบนกว้างและตึงตัวกว่าเดิม ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ ได้ผลดีถึงดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการรักษาบริเวณจมูก
อาการเจ็บปวดจากการรักษาน้อย ใช้เวลาเพียง 10-15 นาที ไม่ต้องดมยาสลบ และส่วนมากไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สามารถทำซ้ำได้อีก
หลายครั้งและมีผลข้างเคียงน้อยมาก
นอกจากนี้การรักษาด้วยความถี่วิทยุนี้ ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพของการรักษาด้วยเครื่องมืออื่น ๆ รวมถึงการผ่าตัดชนิดอื่น ๆ
อีกด้วย ในปี 2551 -2553 มีผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ รวมทั้งสิ้น ประมาณ 400 ราย
5.2 การผ่าตัดต่อมทอนซิลและหรือ อะดินอยด์ ซึ่งนิยมทำในผู้ป่วยนอนกรนเด็ก ซึ่งได้ผลดีมากและความปลอดภัยสูง
ในปี 2551 -2553 มีผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ราว 300 ราย
5.3 การผ่าตัดตกแต่งลิ้นไก่ และเพดานอ่อน ซึ่งได้ผลดี หากได้รับการตรวจอย่างถูกต้อง มีผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้
ราว 200- 300 ราย
5.4 การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกร ซึ่งได้ผลดีมากและปลอดภัย มีผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ราว 20 ราย
5.5 การผ่าตัดอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดจมูก และเนื้องอกทางเดินหายใจส่วนบน ราว 300 ราย เป็นต้น