ภาวะกล้ามเนื้อพร่อง...เป็นอย่างไร
รศ.พญ.วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาวะกล้ามเนื้อพร่องเป็นภาวะที่มีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อรวมทั้งกำลังกล้ามเนื้อและมีผลสมรรถภาพความสามารถทางกายของผู้สูงอายุ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การไม่ได้ใช้งานกล้ามเนื้อ การเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ที่เกิดตามวัย การเกิดเซลตายรวมถึงพันธุกรรม ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้ คือ การได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ รวมถึงการมีกิจกรรมทางกายที่ลดลง
ผู้ที่มีภาวะนี้จะเพิ่มโอกาสหกล้ม รวมถึงการเกิดกระดูกหัก สูญเสียสมรรถภาพความสามารถทางกาย ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ซึ่งล้วนเป็นผลของภาวะกล้ามเนื้อพร่อง ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เป็นอุปสรรคขัดขวางการมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ
การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและกำลังกล้ามเนื้อจะเด่นชัดเมื่ออายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป จะเกิดเร็วขึ้นเมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไป การคัดครองจะทำในกลุ่มที่มีสมรรถภาพทางกายถดถอย ในผู้ที่มีน้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ (มากกว่าร้อยละ 5 ใน 1 เดือน) ผู้ที่มีประวัติหกล้มซ้ำ ผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ ผู้ที่มีการรับรู้บกพร่อง ผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้า และผู้ที่มีโรคเรื้อรังต่าง ๆ
ขั้นตอนเริ่มจากการตรวจวัดกำลังมือ และอัตราเร็วในการเดิน หากพบว่ากำลังมือมีค่าต่ำกว่าปกติ และหรืออัตราเร็วในการเดินช้ากว่าปกติ ให้วัดมวลกล้ามเนื้อ หากพบว่ามวลกล้ามเนื้อต่ำกว่าปกติ จึงให้การวินิจฉัยว่าเป็นภาวะกล้ามเนื้อพร่อง
การรักษานั้นเน้นบทบาทของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค การออกกำลังกายแบบมีแรงต้านให้กล้ามเนื้อแข็งแรง หรือการออกกำลังเพื่อความทนทานของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อทั้งมวลและกำลังกล้ามเนื้อรวมทั้งความสามารถโดยตรง
ส่วนการรับประทานอาหารที่เพียงพอทั้งโปรตีนหรือกรดอะมิโน และวิตามินดีควรรับประทานในขนาดที่แนะนำ หากรับประทานร่วมกับการออกกำลังกายจะให้ผลดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาและป้องกันภาวะนี้ แนะนำให้การออกกำลังกายร่วมกับการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง เพื่อการป้องกันหรือชะลอการลดลงของมวลกล้ามเนื้อ
เรื่องยาคงต้องรอการพัฒนาอีกสักระยะหนึ่ง การให้การวินิจฉัยภาวะนี้อย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกช่วยให้การรักษาและป้องกันได้ผล ทำให้ผู้สูงอายุปลอดจากภาวะพึ่งพา และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป