หน่วยมะเร็งนรีเวชวิทยา
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกคืออะไร
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นในปัจจุบัน ประเทศไทยพบบ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งในเพศหญิงรองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุ 40 ถึง 70 ปีซึ่งมักจะอยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว ในปัจจุบันมีข้อมูลพบว่าผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือนมีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้สูงขึ้น
สาเหตุการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
สาเหตุของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบว่าการมีระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลโดยเฉพาะเมื่อร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้ นอกจากนั้นยังพบปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ส่งผลต่อการเกิดโรคนี้อีกหลายประการ
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ได้แก่
1. อายุ มะเร็งชนิดนี้พบได้มากในผู้ป่วยอายุ 40 ถึง 70 ปี โดยพบว่าส่วนมากเป็นผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว แต่ในปัจจุบันพบโรคนี้มากขี้นในผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนได้
2. ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อเกิดความไม่สมดุลกันระหว่างฮอร์โมนชนิดนี้และฮอร์โมนเพศหญิงอีกชนิดคือโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่สามารถลอกตัวออกมาเป็นประจำเดือนได้จนเกิดการหนาตัวผิดปกติและกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
3. การได้รับฮอร์โมนเสริมจากภายนอก เช่นการรับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนในผู้หญิงบางรายที่มีอาการอันเนื่องมาจากภาววะวัยทอง
4. ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน เนื่องจากมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้นจากเนื้อเยื่อไขมันบางส่วนจนกลายเป็นสาเหตุของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
5. ยาบางชนิด เช่น ยารักษาเสริมสำหรับมะเร็งเต้านมชื่อ tamoxifen เมื่อได้รับต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่งอาจมีผลกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุโพรงมดลูกจนกลายเป็นมะเร็งขึ้นในที่สุด
6. ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome, PCOS) ซึ่งมักมีอาการขาดประจำเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ร่วมกับอาการแสดงอื่นๆ ได้แก่ สิว ผิวหน้ามัน ขนดกแบบผู้ชาย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่การหนาตัวผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกได้
7. พันธุกรรม (Hereditary non-polyposis colorectal cancer, HNPCC) ในปัจจุบันมีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นยีนที่ใช้ในการซ่อมแซมความผิดปกติ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกร่วมกันกับมะเร็งลำไส้ในผู้ป่วยรายเดียวกันได้
อาการของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
อาการที่พบได้บ่อยที่สุดในมะเร็งชนิดนี้คือ การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด โดยเฉพาะในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนไปแล้วแต่ยังมีเลือดออกมาเป็นครั้งคราว หรือผู้หญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือนที่มีเลือดออกผิดปกติในระหว่างรอบประจำเดือน อาการเหล่านี้เองเป็นสิ่งผิดปกติที่มักนำผู้ป่วยมาพบแพทย์
อาการอื่นที่อาจพบร่วมได้ เช่น ปวดท้องน้อย คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อยเพลีย ปวดหลังหรือปวดขา เป็นต้น
การวินิจฉัยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
การวินิจฉัยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในเบื้องต้นสามารถเริ่มด้วยอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจภายในโดยแพทย์ หลังจากนั้นแพทย์จะพิจารณาตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้
1. การตรวจอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal ultrasound) เพื่อประเมินความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งข้อมูลอื่นเช่น ขนาดมดลูก ลักษณะของปีกมดลูกรวมทั้งรังไช่
2. การเก็บชิ้นเนื้อโพรงมดลูกเพื่อส่งตรวจ (Endometrial biopsy) เดิมทีอาศัยการขูดมดลูกซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด รวมทั้งเสียเวลาและค่าใช้จ่ายพอสมควร ในปัจจุบันอาศัยการเก็บชิ้นเนื้อโดยใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กใส่เข้าไปในมดลูกเพื่อดูดเนื้อเยื่อโพรงมดลูกบางส่วนมาส่งตรวจทางพยาธิวิทยาและให้การวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ
3. การตรวจเลือด โดยมากมักเป็นการตรวจเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด เช่น ความเข้มข้นเลือด สารเคมีและเกลือแร่ในเลือด สำหรับการตรวจระดับของสารบ่งชี้มะเร็งในเลือด (Tumour markers) ไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ชัดเจน
4. การตรวจพิเศษอื่น เช่น CT MRI หรือ PET-scan จะใช้เมื่อสงสัยมีการลุกลามของมะเร็งไปยังอวัยวะข้างเคียงหรือมีการแพร่กระจายไปบริเวณอวัยวะอื่น
การแบ่งระยะมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
แพทย์สามารถบอกระยะของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้จากการตรวจร่างกายและตรวจภายในโดยละเอียด รวมไปถึงการผ่าตัดเบื้องต้นเพื่อวิเคราะห์ระยะที่ถูกต้อง โดยภาพรวมระยะของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสามารถแบ่งได้ดังนี้
ระยะที่ 1 มะเร็งอยู่ภายในมดลูกเท่านั้น
ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปยังปากมดลูก
ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปยังผิวชั้นนอกมดลูก ปีกมดลูก ช่องคลอด ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง
ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
วิธีการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกประกอบด้วย การผ่าตัด รังสีรักษาและเคมีบำบัด โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การผ่าตัด เป็นการรักษาเบื้องต้นและผลการผ่าตัดสามารถบอกระยะของโรคได้อย่างถูกต้อง โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดมดลูกและปีกมดลูกทั้ง 2 ข้างเพื่อพิจารณาโอกาสที่มะเร็งจะมีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง หลังจากนั้นจะเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกรานและในช่องท้องสำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงดังกล่าว เมื่อทราบผลการตรวจแล้วแพทย์จะสามารถบอกระยะของโรคที่ถูกต้องรวมถึงวางแผนการรักษาต่อไปได้
2. รังสีรักษา ซึ่งประกอบด้วยการฉายรังสีและการฝังแร่ ถูกใช้เป็นการรักษาเสริมหลังจากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยง การรักษาโดยวิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 2 เดือน และอาจมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย
3. เคมีบำบัด แพทย์จะพิจารณาให้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีการแพร่กระจายหรือมีความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำสูงเช่น ผู้ป่วยระยะที่ 4 หรือระยะที่ 3 บางราย การรักษาวิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 3 ถึง 6 เดือน ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับเคมีบำบัดควบคู่ไปกับรังสีรักษา ผลข้างเคียงทั่วไปจากการได้รับเคมีบำบัดเช่น คลื่นไส้หรืออาเจียน มือเท้าชาและผมร่วง จะได้รับการการดูแลจากแพทย์ผู้รักษา ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาต่อเนื่องไปได้เป็นอย่างดี
การป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสามารถดูแลรักษาตนเองเพื่อลดโอกาสเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้โดยการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ปรึกษาแพทย์เมื่อเกิดความผิดปกติเช่นขาดประจำเดือนต่อเนื่อง มีประจำเดือนมาไม่ตรงรอบ หรือมีเลือดออกผิดปกติหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว รวมไปถึงมีความเสี่ยงโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่
โดยสรุป ผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกส่วนมากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเนื่องจากมีอาการที่เด่นชัดจึงนำไปสู่การรักษาอย่างรวดเร็ว เบื้องต้นผู้ป่วยควรหาข้อมูลที่เหมาะสมและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อจะได้วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม หลังเข้ารับการรักษาแล้วผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์และเข้ารับการตรวจติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ