บทความ

มะเร็งต่อมไทรอยด์…ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

มะเร็งต่อมไทรอยด์ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ผศ.ดร.นพ. สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์

ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
                                                                     คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ต่อมไทรอยด์ คืออะไร
       
ต่อมไทรอยด์ เป็นอวัยวะในร่างกายบริเวณคอ และเป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย (ต่อมไร้ท่อ หมายถึง ต่อมที่สร้างสารที่เรียกว่า “ฮอร์โมน” ในต่อม และปล่อยฮอร์โมนนั้นเข้าสู่กระแสเลือดและไปทำงานในอวัยวะอื่นในร่างกาย)

         ต่อมไทรอยด์ จะอยู่บริเวณหน้าหลอดลมใต้ท่อกระดูกไทรอยด์ (ลูกกระเดือกในผู้ชาย) ต่อมนี้มีสองข้างซ้าย ขวา และมีแนวเชื่อมกันตรงกลางคล้ายปีกผีเสื้อ แต่ละข้างจะมีขนาดประมาณ 4-5x1.5-2.0 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 15-25 กรัม
หน้าที่ของต่อมไทรอยด์ คืออะไร
      
ต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ที่สำคัญ คือ สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเพื่อควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยที่ไทรอยด์ฮอร์โมนจะถูกสร้างจากต่อมไทรอยด์ และส่งเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และใช้ในกระบวนการเมตาบอลิสมที่อวัยวะต่างๆ
        
โดยสารตั้งต้นที่มีความสำคัญในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน คือ สารไอโอดีน และหากร่างกายมีภาวะที่ไทรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือต่ำเกินไป ก็จะทำให้ระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกายผิดปกติไปได้ นั่นคือ หากร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป ก็จะมีกระบวนการเผาผลาญพลังงานมากตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย กินจุ น้ำหนักลด หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกตามฝ่ามือ ท้องเสีย เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยเกินไป ก็จะเกิดอาการเฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง น้ำหนักเพิ่ม อาจมีอาการขาบวม ท้องผูก ขี้หนาว เป็นต้น
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือไฮเปอร์ไทรอยด์ คืออะไร
      
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือไฮเปอร์ไทรอยด์ คือ ภาวะที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการดังกล่าวข้างต้นได้ ทั้งนี้ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์อาจจะเกิดร่วมกับการมีก้อนหรือไม่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ก็ได้ สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ มักเกิดจากโรคที่เรียกว่า Graves’ disease โดยที่ผู้ป่วยโรคนี้อาจจะมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยได้ เช่น ตาโปน หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการเจาะตรวจระดับไทรอยด์ในเลือดและส่วนใหญ่แล้วสามารถรักษาได้ด้วยการกินยา ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดรักษาแต่อย่างใด การกินยาจะต้องกินอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่องสักพักหนึ่ง แล้วจึงสามารถลดระดับยาลงมาได้ และส่วนใหญ่สามารถหยุดยาได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีปัญหาการรักษาด้วยยากิน อาจต้องได้รับการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน หรือที่เรียกกันว่า การกลืนแร่ หรืออาจจะได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาก็ได้ ในกรณีที่การรักษาด้วยยากินไม่เป็นผล
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษเป็นโรคเดียวกับมะเร็งไทรอยด์หรือไม่
      
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไม่ได้เป็นโรคเดียวกับมะเร็งไทรอยด์ โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคของต่อมไทรอยด์มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติอยู่ 2 แบบ คือ ความผิดปกติของการสร้างฮอร์โมน และมีก้อนที่คอ
        
ผู้ป่วยที่มีไทรอยด์เป็นพิษ จะมาพบแพทย์ เพราะมีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป จึงมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด เหงื่อออกตามมือตามเท้า โดยที่อาจมีหรือไม่มีก้อนที่คอเลยก็ได้ ในขณะที่ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์จะมีอาการมีก้อนที่คอ โดยที่ก้อนดังกล่าวจะไม่ได้สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากกว่าปกติทำให้ไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น
เมื่อไรจึงจะสงสัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
     
 ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ จะมาพบแพทย์ด้วยอาการก้อนที่คอ โดยที่ก้อนนั้นมักจะเคลื่อนที่ขึ้นลงได้ตามจังหวะการกลืน ก้อนดังกล่าวมักจะไม่มีอาการเจ็บแต่อย่างใด ถ้าคลำไปที่ก้อนจะพบว่าก้อนมีลักษณะแข็ง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ก้อนที่ต่อมไทรอยด์มักจะไม่ใช่ก้อนมะเร็ง แต่เป็นเนื้องอกอย่างอื่นที่ไม่ใช่เนื้อร้าย ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ จึงจำเป็นต้องทำการตรวจก้อนเพิ่มเติมอย่างละเอียดเสมอ เพื่อวินิจฉัยโรคให้ได้ว่า เป็นก้อนมะเร็งหรือไม่
เมื่อตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์แล้วควรจะต้องทำอย่างไร
     
หากท่านตรวจพบก้อนที่คอ ที่เคลื่อนที่ขึ้นลงตามการกลืนได้แล้ว และสงสัยว่าเป็นก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ควรจะไปปรึกษาแพทย์ โดยทั่วไปแพทย์จะทำการเจาะเลือดตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นก้อนที่มีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินกว่าปกติหรือไม่
       
หากผลการเจาะเลือดพบว่า ระดับฮอร์โมนในเลือดปกติ การตรวจในขั้นต่อไปคือการส่งตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการตรวจอัลตร้าซาวด์ของต่อมไทรอยด์ ซึ่งการตรวจดังกล่าวจะทำให้สามารถเห็นลักษณะของก้อนที่ละเอียดได้
       
ลักษณะของก้อนที่เป็นของแข็ง มีขอบไม่เรียบ มีหินปูนในก้อน มีความสูงมากกว่าความกว้าง มีเส้นเลือดมาเลี้ยงบริเวณก้อนมาก ทำให้แพทย์ต้องสงสัยว่าอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ และหากพบลักษณะดังกล่าวข้างต้น แพทย์จะแนะนำให้เจาะเอาเซลล์ในก้อนนั้นไปส่งตรวจอย่างละเอียด เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำต่อไป
        
การเจาะตรวจก่อนที่ต่อมไทรอยด์ เป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยากและมักจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดกับผู้ป่วยมาก แพทย์จะใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังไปในก้อนโดยตรง และทำการสุ่มเอาเซลล์ในก้อนนั้นออกไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยยืนยันว่าก้อนดังกล่าวเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเนื้อมะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์มีกี่แบบและแต่ละแบบมีความรุนแรงแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
      
มะเร็งต่อมไทรอยด์มีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์เริ่มต้นมีการเปลี่ยนแปลงเกิดจากเซลล์อะไร แต่โดยทั่วไปแล้วมะเร็งของต่อมไทรอยด์ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ มะเร็งของต่อมไทรอยด์ชนิดแปปปิลลารี (papillary) รองลงมาคือ มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลา (follicular) ซึ่งมะเร็งทั้งสองอย่างถือว่าเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรน้อยเพราะแบ่งตัวเจริญเติบโตช้า แต่ก็มีมะเร็งต่อมไทรอยด์บางชนิดที่เติบโตแบ่งตัวเร็ว ทำให้ก้อนมักมีขนาดใหญ่และรักษายาก นั่นคือ มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก (anaplastic) เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้วจำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่
        
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้ว การรักษาที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน คือ การผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดอาจจะรวมไปถึงการผ่าตัดทั้งที่ต่อมไทรอยด์ และการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอ (เฉพาะผู้ป่วยบางรายการที่มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอแล้ว)
        
สำหรับแนวทางการผ่าตัด อาจทำได้โดยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุด ที่อาจจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย
        
ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่สำคัญที่ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์มักจะกังวลเสมอ คือ ภาวะเสียงแหบจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณกล่องเสียง และภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำภายหลังการผ่าตัด ซึ่งภาวะทั้งสองมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงระหว่างการผ่าตัด แต่หากการผ่าตัดทำโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว โอกาสในการเกิดความผิดปกติจากภาวะทั้งสองแบบถาวรมีต่ำมาก (น้อยกว่า 1%)
หลังการผ่าตัดจะต้องให้เคมีบำบัดหรือฉายรังสีรักษาหรือไม่
      
หลังการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์แพทย์จะส่งชิ้นเนื้อไปทำการตรวจอย่างละเอียดทางห้องปฏิบัติการและประเมินดูว่ามะเร็งนั้นมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด หากพบว่ามะเร็งนั้นไม่ใช่มะเร็งที่มีความเสี่ยงต่ำ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับการรักษาต่อด้วยการใช้สารรังสีไอโอดีน หรือที่เรียกว่า การกลืนน้ำแร่ การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือการฉายรักสีรักษา ไม่ค่อยมีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ และมักจะใช้เฉพาะในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ทีมีการกลับซ้ำของโรคหรือในระยะลุกลามที่เป็นมากแล้วเท่านั้น
ผลการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นอย่างไร มีโอกาสหายหรือไม่
     
 การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ในปัจจุบันให้ผลดีมาก และมีโอกาสในการหายขาดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นมะเร็งไทยรอยด์ชนิดแปปปิลลารีและฟอลลิคูลา เนื่องจากการรักษาจะตอบสนองดีกับการผ่าตัดและใช้รังสีไอโอดีน โดยที่ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่า 95% หลังจากผ่านไปแล้ว 10 ปี

เอกสารประกอบ