“ยาแก้ปวดทรามาดอล (Tramadol) ใช้ผิด ชีวิตเปลี่ยน”
ทรามาดอล (Tramadol) เป็นยาระงับปวด กลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) ข้อบ่งใช้รักษาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรงชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น อาการปวดจาก บาดแผล กระดูกหัก การบาดเจ็บของเส้นประสาท ไม่ควรใช้ในอาการปวดเล็กน้อย
กลไกการออกฤทธิ์มี 2 กลไก คือ
1. กระตุ้นมิวรีเซปเตอร์ (µ-receptor) จะมีฤทธิ์ลดความปวด และมีฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดภาวะเคลิ้มสุข (euphoria)
2. ยับยั้งการเก็บกลับของสารสื่อประสาทชนิดโมโนเอมีน (monoamine) คือ นอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) และ เซอโรโทนิน (serotonin) ทำให้สารสองชนิดนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นและลดอาการปวดได้
ขนาดยาที่แนะนำ
ขนาดยาเริ่มต้นในผู้ใหญ่ คือ รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เวลาปวด
ขนาดยาสูงสุดในผู้ใหญ่ไม่ควรใช้เกิน 400 มิลลิกรัม ต่อวัน
การใช้ยาทรามาดอลเกินขนาด ในปัจจุบันพบมากในกลุ่มวัยรุ่นที่นำยามาใช้ผิดวัตถุประสงค์ในการเสพเพื่อผ่อนคลายและหากใช้ไปนานๆ จะเกิดการเสพติด และทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน มึนงง เคลิ้ม เฉื่อยชา
การเกิดพิษจากทรามาดอลแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ การตั้งใจรับประทานยาเกินขนาด (เช่น การรับประทานยาเพื่อฆ่าตัวตาย) และเป็นผลจากการเสพเพื่อผ่อนคลาย
อาการเมื่อใช้ยาเกินขนาด ได้แก่ อาการซึม หมดสติ คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ/สูง ชัก หมดสติแบบลึก
ดังนั้นการรับประทานยาทรามาดอลเกินขนาด และการนำยาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อันตรายต่อชีวิตได้
หากต้องการปรึกษาเรื่องยาและพิษวิทยา สามารถโทรปรึกษาได้ที่หน่วยข้อมูลยาและพิษวิทยา โทร 0-2419-7007
เอกสารอ้างอิง
จุฬธิดา โฉมฉาย. ทรามาดอล (Tramadol.). ใน: สัมมน โฉมฉาย, จุฬธิดา โฉมฉาย, บรรณาธิการ. ภาวะพิษจากสารเสพเพื่อผ่อนคลายในวัยรุ่น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศิริราช; 2560. หน้า 141-9.
ตรวจสอบข้อมูล : ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช
ออกแบบ : งานผลิตและบริการสื่อ สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
content creator : งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล