ทุนพระราชทาน
ข้อมูลเกี่ยวกับทุนฯ

1. จำนวนทุนที่ให้สูงสุด 5 ทุนต่อปี

2. การสนับสนุน

  • ค่าเตรียมตัวก่อนเดินทางไปปฏิบัติงาน
  • ค่าประกันสุขภาพ
  • ค่าเดินทาง
  • ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมประชุมวิชาการหรืออบรม
  • ค่าครองชีพประจำเดือนเป็นระยะเวลา 12 เดือน โดยอิงตามเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษา (หากมีความจำเป็นจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาหรือต้องศึกษาเพิ่มเติมนั้น ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนฯ)
  • คุณสมบัติของผู้สมัคร

  • เป็นนิสิตแพทย์/นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 (กำลังจะขึ้นชั้นปีสุดท้าย) จากทุกสถาบันการศึกษาแพทยศาสตร์ในประเทศไทย
  • อายุไม่เกิน 35 ปี
  • ผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ TOEFL หรือ IELTS อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยผลการทดสอบ TOEFL (คะแนน Internet-based) ต้องได้คะแนน Total ไม่น้อยกว่า 79 คะแนน หรือ IELTS ต้องได้คะแนน Overall ไม่น้อยกว่า 6.5 คะแนน ซึ่งได้ผลมาในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ยื่นใบสมัครที่สถาบัน
  • มีโครงการที่ต้องการไปปฏิบัติงานทางด้าน Basic medical sciences research/Translational research, Clinical research, Health system/policy หรืออื่นๆ (Innovation/Novel Technology) ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยยื่นพร้อมใบสมัครและอาจมีสถานที่พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษาที่ติดต่อไว้แล้ว และเป็นโครงการที่มีค่าความซ้ำซ้อนในการคัดลอกผลงานการเขียนทางวิชาการ (Plagiarism) ไม่เกินร้อยละ 30
  • มีความพร้อมที่จะไปปฏิบัติงาน ณ สถาบันในหรือต่างประเทศเป็นเวลา 12 เดือน และยินดีรับการประเมินทั้งด้านความสามารถ เจตคติ และมนุษย์สัมพันธ์
  • มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมด้านสุขภาพของมวลมนุษยชาติ
  • ขั้นตอนการสมัคร

  • ดาวน์โหลดใบสมัครประจำปีจาก http://www.pmayp.org หรือขอรับทางอีเมลของสำนักงานโครงการเยาวชนฯ
  • ผู้สมัครยื่นใบสมัครต่อคณบดี/ผู้อำนวยการสถาบันของตนเอง เพื่อพิจารณาคัดเลือกในขั้นต้น สถาบันจะรวบรวมเอกสารการสมัครทั้งหมดของผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวนสถาบันละไม่เกิน 3 คน พร้อมความเห็นของผู้บังคับบัญชาของสถาบันที่มีต่อผู้สมัคร โดยอัปโหลดเข้าสู่ช่องทางการรับเอกสารที่โครงการเยาวชนฯ กำหนดไว้ภายในวันที่ 30 เดือนเมษายนของแต่ละปี ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในคู่มือการนำส่งเอกสารการสมัครแบบออนไลน์ (Online submission)


  • เอกสารที่ใช้ในการสมัคร

  • ใบสมัคร
  • เรียงความ
  • รายงานผลการศึกษาในระดับชั้นมัธยมต้น มัธยมปลาย และปริญญาตรี
  • รายงานผลการทดสอบภาษาอังกฤษ
  • ภาคผนวก (เอกสารหลักฐานเกียรติประวัติหรือรูปภาพกิจกรรม)
  • โครงการ
  • หนังสือรับรองเอกสารโครงการว่าไม่ได้มีการคัดลอกมาจากแหล่งใด
  • รายงานผลการตรวจสอบการคัดลอกผลงานการเขียนทางวิชาการ (Plagiarism)
  • หนังสือความเห็นหรือหนังสือรับรองจากผู้บังคับบัญชาของสถาบันต้นสังกัด
  • รูปถ่ายของผู้สมัคร
  • หลักเกณฑ์และขั้นตอนการตัดสิน

    1. คณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจากคณะแพทยศาสตร์ในประเทศเป็นผู้คัดเลือกผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ จำนวนไม่เกิน 5 คนต่อปี (ช่วงเวลาพิจารณาคัดเลือกระหว่างเดือนพฤษภาคม - เดือนกันยายน)

    2. เกณฑ์การคัดเลือก ประกอบด้วย
  • ประวัติและคุณสมบัติของผู้สมัคร
  • โครงการของผู้สมัคร
  • ผลการสัมภาษณ์ผู้สมัครและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัคร
  • 3. คุณสมบัติของผู้สมัครที่จะพิจารณา ได้แก่
  • มีความขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่ง มีสติปัญญาดี มีความคิดริเริ่ม
  • มีความประพฤติดี เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม อุทิศตนทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
  • เข้าใจปัญหาของประเทศไทย และมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเข้าร่วมแก้ไข
  • ได้พยายามแสวงหาความรู้ความสามารถในแขนงนั้นๆ จากภายในประเทศไทยแล้ว และยังมีความจำเป็นต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติมในสาขาที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติในอนาคต
  • เข้าใจในวัตถุประสงค์ของโครงการและเต็มใจที่จะไปปฏิบัติงาน ณ สถาบันในหรือต่างประเทศเป็นเวลา 12 เดือน
  • 4. ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ นำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนฯ คณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนฯ เพื่อให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เพื่อตัดสินขั้นสุดท้ายในเดือนกันยายน – เดือนพฤศจิกายน ของปีนั้นๆ

    5. เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ แจ้งผลการคัดเลือกไปยังสถาบันของผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ เพื่อเตรียมการเกี่ยวกับการเดินทาง ภายในเดือนพฤศจิกายน โดยสำนักงานโครงการเยาวชนฯ จะช่วยประสานงานเตรียมการเดินทางไปปฏิบัติงาน เมื่อได้รับพระราชทานทุนฯ แล้วจะเดินทางภายหลังจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตของปีต่อไป

    การสนับสนุนของโครงการ

  • คณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนฯ จะสนับสนุนให้ผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ ได้มีโอกาสไปปฏิบัติงาน ณ สถาบันในหรือต่างประเทศ และได้รับการดูแลโดยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในเวลา 12 เดือน ตามโครงการที่คณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ ได้อนุมัติไว้
  • คณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนฯ และสถาบันต้นสังกัดจะร่วมมือกันให้คำปรึกษา แนะนำ ติดตามผลการศึกษาและการดำเนินชีวิตของผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ อย่างใกล้ชิด
  • ข้อมูลบทบาท / ภารกิจของผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ ขณะไปปฏิบัติงาน

  • ผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ ต้องจัดทำรายงานความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานเสนอต่อสถาบันฯ และส่งคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนฯ ทุก 6 และ 12 เดือน
  • ติดต่อประสานสถาบันในและต่างประเทศเพื่อส่งผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ ไปปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการเยาวชนฯ
  • ผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ สามารถขอเข้าร่วมประชุมวิชาการหรืออบรมได้ตามความสนใจและคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษา โดยต้องดำเนินการขออนุมัติตามข้อกำหนดของโครงการเยาวชนฯ
  • บทบาท / ภารกิจของผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ ภายหลังกลับมาจากการปฏิบัติงาน

  • ผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ ต้องจัดทำรายงานสรุปการไปปฏิบัติงานเพื่อเสนอต่อสถาบันฯ พร้อมทั้งนำเสนอผลงาน ความประทับใจ และข้อคิดเห็นที่ได้รับในระหว่างปฏิบัติงาน ในการประชุมวิชาการโครงการเยาวชนฯ “Prince Mahidol Award Youth Program (PMAYP) Conference”
  • ผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ ต้องปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษาและวงการแพทย์ตามโครงการที่ได้นำเสนอไว้