แนะนำหลักสูตร เทคโนโลยีบัณฑิต 

สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์

ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

 

สาขานี้เกี่ยวกับอะไร

-  เป็นสาขาวิชาที่เรียนเกี่ยวกับการสร้างหรือผลิต  สื่อชนิดต่างๆ  สำหรับนำไปใช้ เพื่อการเรียนการสอน  เพื่อการเผยแพร่   หรือเพื่อการโฆษณา  ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์

-  สื่อชนิดต่างๆ ครอบคลุมสื่อ 5  ชนิด ได้แก่  1.ภาพวาด  2.ภาพถ่าย   3.คอมพิวเตอร์  4.วิดีโอ 

   5.หุ่นจำลอง

ภาพวาด  นักศึกษาต้องเรียนเกี่ยวกับการวาดภาพทั่วไป  เช่น  คน สัตว์ สิ่งของ  การ์ตูน   ภาพอวัยวะและร่างกายของมนุษย์  สัตว์ พืช   ภาพเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ   มีทั้งการวาดภาพด้วยมือทั้งหมดและวาดภาพแล้วตกแต่งด้วยคอมพิวเตอร์

ภาพถ่าย  นักศึกษาต้องเรียนเกี่ยวกับการถ่ายภาพ ทั่วไป     และการถ่ายภาพที่ใช้ในทางการแพทย์ การถ่ายภาพทางนิติวิทยาศาสตร์    การถ่ายภาพในสตูดิโอ  การตกแต่งภาพด้วย คอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์  นักศึกษาต้องเรียนเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมต่างๆ ที่ใช้ในการออกแบบ  การวาดภาพ    การตกแต่งภาพ    การสร้างภาพแอนิเมชั่น  การสร้างเว็บไซท์ 

วิดีโอ  นักศึกษาต้องเรียนเกี่ยวกับการใช้กล้องวิดีโอ   การถ่ายทำสารคดี    การเขียนบทสารคดี   การตัดต่อวิดีโอด้วยคอมพิวเตอร์

หุ่นจำลอง  นักศึกษาต้องเรียนเกี่ยวกับ   การปั้นคน สัตว์หรืออวัยวะ ต่างๆ   อาหารเทียม   รวมทั้งการหล่อรูปปั้นออกมาเป็นวัสดุสังเคราะห์จำพวกเรซิ่น  หรือเป็นปูนปาสเตอร์  แล้วลงสีให้เหมือนจริง

 

วิชาพื้นฐานทางการแพทย์

-นักศึกษาต้องเรียนวิชาพื้นฐานทางการแพทย์ เช่น  วิชา กายวิภาคศาสตร์   สรีรวิทยา   จุลชีววิทยา ชีววิทยา  วิทยาภูมิคุ้มกัน ปรสิตวิทยา  และพยาธิวิทยา    เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาทางการแพทย์และสามารถสร้างสื่อที่ใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้อง

 

วิชาพื้นฐานทั่วไป

นักศึกษาต้องเรียนเกี่ยวกับวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งเป็นวิชาบังคับตามเกณฑ์การศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรี   ของประเทศไทย เช่น สังคมศาสตร์ ภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์  ศิลปะ ฯลฯ

 

 

 

การฝึกงาน 

ในชั้นปีที่ 4  นักศึกษาทุกคนต้องฝึกงาน  ด้วยการทำงานเกี่ยวข้องกับสื่อชนิดต่างๆดังกล่าวแล้ว  ในหน่วยงานที่อยู่ในศิริราช หรือหน่วยงานภายนอกตามที่หลักสูตรเห็นสมควร  เพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญก่อนออกไปทำงานจริง

 

การทำงาน

-อาจทำงานในหน่วยงานทางการแพทย์หรือไม่ก็ได้

-ถ้าทำงานในหน่วยราชการ จะทำงานในตำแหน่งนักวิชาการโสตทัศนศึกษา ทั้งหน่วยงานทางการแพทย์และไม่ใช่การแพทย์  ตัวอย่างหน่วยงานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ต้องการบุคลากรที่จบด้านนี้ ได้แก่  หน่วยโสตทัศนศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ   รวมทั้งหน่วยโสตฯของคณะทันตแพทย์  สัตวแพทย์ เภสัช  เทคนิคการแพทย์   สาธาณ สุข วิทยาศาสตร์  เวชศาสตร์เขตร้อน  โรงพยาบาล และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธาณสุข    รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน  (ที่เป็นโรงพยาบาลใหญ่)  

- ถ้าทำงานในหน่วยงานเอกชน   ส่วนมากทำงานในตำแหน่งกราฟิกดีโซเนอร์    ในโปรดัคชั่นเฮาส์    หรือบริษัทที่ผลิตงานโฆษณา  เมื่อมีประสบการณ์และความสามารถมากขึ้น  สามารถก้าวขึ้นเป็นครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ในบริษัทโฆษณา   บางคนเป็นช่างภาพสารคดีโทรทัศน์   บางคนเป็นผู้ตัดต่อรายการโทรทัศน์ บางคนเป็นนักเขียนประจำเว็บไซท์

-หลายคนเป็นอาจารย์  ในสถาบันต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  มหาวิทยาลัยราชภัฏวิทยาลัยอาชีวศึกษา(ในจังหวัดต่างๆ)  วิทยาลัยช่างศิลป

-ในหน่วยราชการทหารและตำรวจ  ศิษย์เก่าซึ่งสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรเก่า รับราชการในหน่วยงานสังกัดกองทัพบก  กองทัพเรือ กองทัพอากาศ  และตำรวจ  รวมทั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในกระทรวงยุติธรรม

-หลายคนทำงานในฝ่ายฝึกอบรมของธนาคาร  เช่น ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารเอ็กซิมแบงค์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

การศึกษาต่อ

-ผู้จบการศึกษาจากหลักสูตรนี้ สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีการศึกษา    และระดับปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

 

 

จุดเด่นของหลักสูตร

- การที่เรียนเกี่ยวกับสื่อหลายชนิด  และเน้นให้นักศึกษาทุกคนปฏิบัติได้จริง   ทำให้ผู้จบออกไปมีโอกาสในการได้งานทำมากขึ้น   นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเวลาของการค้นหาตัวเองของนักศึกษา  ว่าตัวเองชอบสื่อชนิดใดหรือถนัดอย่างใดเป็นพิเศษ จะได้ศึกษาต่อหรือเอาดี ในสาขานั้นๆต่อไป    

 

ความเป็นมา

สาขานี้เคยเปิดสอนมาก่อนในชื่อหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเวชนิทัศน์ ซึ่งเป็นปริญญาตรีต่อเนื่อง 2 ปี  มีนักศึกษาจบแล้ว 41 รุ่น ขณะนี้เปลี่ยนเป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ชื่อหลักสูตร เทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์   

 

คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา

-จบชั้นมัธยมปลายสายสามัญ

- ควรมีความสนใจหรือมีความถนัดทางด้านศิลปะในระดับดีพอสมควร   

-ไม่บกพร่องทางสายตาในลักษณะตาบอดสี

 

การสมัครเข้าศึกษา

-สมัครสอบผ่านระบบแอดมิสชั่นกลาง

การรับสมัครรอบ 2

-ในการประกาสผลการสอบรอบแรกจะมีนักศึกษาส่วนหนึ่งสละสิทธิ์หรือไม่มาสอบ  จึงจะมีการสมัครสอบรอบ 2 ผู้ที่พลาดจากการสอบรอบแรกและต้องการเข้าศึกษา โปรดติดตามข่าวการรับสมัครรอบเพิ่มเติม  ซึ่งจะเปิดรับอีกครั้ง ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม  โดยใช้คะแนน O-NET , A-NET  และ GPA

-เกณฑ์การคัดเลือกจะเลือกตามลำดับคะแนน O-NET , A-NET และ GPA ของผู้สมัครจากสูงไปต่ำตามจำนวนที่รับ

 

วิชาที่ใช้ในการคัดเลือก

O-NET   รหัสวิชาที่ใช้  ได้แก่  (01)   (02)  ( 03)  (04)  (05)

A-NET   รหัสวิชาที่ใช้  ได้แก่  (13)   (14)   (15)

GPA      รหัสวิชาที่ใช้  ได้แก่  (21)   (23)  (24)  (25)  (26)

คะแนนของผู้สอบได้ ในปี 2550    5340-6564 

การจัดการเรียนการสอน

-ปี1 เทอม 1 และเทอม 2 ส่วนใหญ่ เรียนวิชาศึกษาทั่วไปรวมกับนักศึกษาจากคณะต่างๆของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่วิทยาเขตศาลายา

- ปี 2-4  เรียนที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล   

 

 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บัญชา  พิทยวรานันท์  โทร 02-419 -6394      หรือ     086-973-7116