แนวคิดเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดของมะเร็ง

อำนาจ คงมณี

นักศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาชีวเคมี(นานาชาติ) 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

Corresponding address: amnart_kh@hotmail.com

 

                เราเริ่มคุ้นหูกันมากขึ้นกับคำว่าสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด คุณสมบัติแสนมหัศจรรย์ของเซลล์ชนิดนี้ที่สามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์อะไรก็ได้ในร่างกาย ช่วยสร้างความหวังว่าโรคร้ายต่าง ๆ จะถูกกำจัดไปได้ แต่ในขณะเดียวกันนั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ชี้ว่า สเต็มเซลล์เป็นเซลล์ต้นกำเนิดของมะเร็ง โรคร้ายที่ใคร ๆ ต่างหวาดกลัว

                ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่ามะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกทางพันธุกรรมของเซลล์ อันเป็นผลให้เซลล์สูญเสียคุณสมบัติในการควบคุมการแบ่งตัวเจริญเติบโตกับการตายของเซลล์ เป็นผลให้เซลล์มะเร็งสามารถเจริญเติบโตไปได้เรื่อย ๆ และในที่สุดก็ส่งผลร้ายต่าง ๆ ออกมาแตกต่างกันไปในมะเร็งแต่ละชนิด แต่คำถามที่สำคัญก็คือ เซลล์อะไรที่เปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็ง ? โดยก่อนหน้าที่แนวคิดเรื่องสเต็มเซลล์จะเป็นที่ยอมรับอย่างในปัจจุบันนี้ ก็มีแนวคิดที่เชื่อกันมายาวนานว่า เซลล์มะเร็งเป็นโคลน ซึ่งหมายถึงมีต้นกำเนิดมาจากเซลล์มะเร็งเริ่มแรกเพียงเซลล์เดียว ที่อาศัยความได้เปรียบจากการที่พันธุกรรมของเซลล์นั้นผิดปกติไป จนทำให้เซลล์นั้นสามารถแบ่งตัวไปได้เรื่อย ๆ จนในที่สุดก็เจริญขึ้นมาเหนือเซลล์ชนิดอื่น ๆ จากแนวคิดนี้จะเห็นได้ว่าเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งจะเป็นเซลล์อะไรก็ได้ที่ผิดปกติทางพันธุกรรม และเซลล์มะเร็งทุก ๆ เซลล์ของมะเร็งชนิดนั้นก็ต้องมีลักษณะและคุณสมบัติเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งต่างจากความเป็นจริงที่พบว่า ในมะเร็งชนิดเดียวกันนั้นประกอบไปด้วยเซลล์มะเร็งที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันหลายชนิด จึงเกิดแนวคิดใหม่เพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตพบข้างต้น โดยการที่มองว่ามะเร็งเปรียบเสมือนอวัยวะใหม่ชิ้นหนึ่งของร่างกาย ประกอบไปด้วยเซลล์หลายชนิดที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นจากแนวคิดใหม่เรื่องสเต็มเซลล์ที่กล่าวว่าอวัยวะแต่ละชนิดในร่างกายของเราพัฒนามาจากสเต็มเซลล์ ซึ่งมีอยู่เพียงจำนวนน้อย แต่สามารถแบ่งตัวไปเป็นเซลล์ต่าง ๆ ได้หลายชนิดและแบ่งตัวไปเรื่อย ๆ ตลอดชั่วอายุขัยของคนเรา ซึ่งมะเร็งก็น่าจะมีเซลล์ที่ทำหน้าที่นี้เช่นกัน และเมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติของเซลล์มะเร็งกับสเต็มเซลล์แล้ว พบว่าเซลล์ทั้ง 2 ชนิดมีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติของสเต็มเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวไปได้ตลอดชั่วชีวิตนั้น ทำให้เซลล์ชนิดนี้มีโอกาสที่จะสะสมความผิดปกติทางพันธุกรรมได้มากกว่าเซลล์ปกติทั่วไปและกลายไปเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด หรือที่เรียกว่าเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง (Cancer Stem Cell) โดยในช่วง 4- 5 ปีที่ผ่านมามีการค้นพบเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งของมะเร็งชนิดต่าง ๆ แล้วหลายชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งสมอง และมะเร็งเต้านม เป็นต้น

 

แนวคิดเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง เชื่อว่าในมะเร็งชนิดหนึ่งจะมีเซลล์ที่มีคุณสมบัติในการก่อมะเร็ง คือ สามารถก่อมะเร็งได้เมื่อฉีดเซลล์ชนิดนี้เข้าไปในสัตว์ทดลองจะสามารถก่อมะเร็งได้ ในขณะที่เซลล์มะเร็งอื่น ๆ ไม่สามารถทำได้ ในขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งบอกว่าทุก ๆ เซลล์สามารถก่อมะเร็งได้เท่ากันทั้งหมด

                นอกจากแนวคิดเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งจะชี้ให้เห็นถึงอีกด้านหนึ่งของสเต็มเซลล์ที่ค่อนข้างน่ากลัวแล้ว แนวคิดนี้ยังส่งผลถึงการพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะยารักษามะเร็งที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าได้ผลเพียงชั่วคราวแล้วผู้ป่วยก็กลับมาเป็นซ้ำอีก ซึ่งเป็นไปได้ว่ายาพวกนั้นไม่สามารถฆ่าเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งได้ เซลล์มะเร็งจึงสามารถกลับมาเจริญเติบโตได้อีก การรักษาจึงไม่หายขาด ในทางตรงกันข้ามหากเราสามารถพัฒนายาที่สามารถฆ่าเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งได้เซลล์มะเร็งที่เหลือก็จะตายไปเองในที่สุด อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ยังต้องอาศัยการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมเพื่อมาสนับสนุน และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับนักวิจัย เพราะเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งเป็นเซลล์ส่วนน้อยในเซลล์มะเร็ง และแยกออกจากกันได้ยากกับสเต็มเซลล์ปกติทำให้งานวิจัยทางด้านนี้เป็นสิ่งที่น่าติดตามและค้นหาต่อไป

 

CSC

จากภาพแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการรักษาโรคมะเร็ง หากเราสามารถค้นพบเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งของมะเร็งชนิดนั้น ๆ

 

เอกสารอ้างอิง

1. Dalerba P. et al 2007. Cancer Stem Cells: Models and Concepts. Annu. Rev. Med. 58:26784

2. Ryan J.Ward and Peter B. Dirks. Cancer Stem Cells: At the Headwaters of Tumor   Development. Annu. Rev. Pathol. Mech. Dis. 2007. 2:175–89

3. Clarke MF, Fuller M. 2006. Stem cells and cancer: two faces of Eve. Cell 124:1111–15

4. Reya T, Morrison SJ, Clarke MF,Weissman IL. 2001. Stem cells, cancer, and cancer stem cells. Nature 414:105–11