
รางวัล TQM-Best Practices in Thailand
![]() |
![]() |
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลผลงานที่เป็นแบบอย่างที่ดี TQM-Best Practices in Thailand จากการนำเสนอบทความ เรื่อง “ระบบการวางแผนงบประมาณประจำปี เพื่อความเป็นเลิศขององค์กร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล” จากมูลนิธิส่งเสริมทีคิวเอ็มในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ผศ.นพ.อนุวัฒน์ สุตัณฑวิบูลย์ รองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน เป็นผู้แทนคณะฯ นำเสนอบทความ และรับโล่รางวัลจาก ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล กรรมการจัดการประชุม ในงานประชุม THAILAND QUALITY CONFERENCE & The 16th Symposium on TQM-Best Practices in Thailand ภายใต้หัวข้อ Knowledge Sharing Practitioner to Best Practices : เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่สังคมคุณภาพ ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการเพื่อให้ความรู้และแนวทางระบบการจัดการของ TQM ที่องค์กรต่างๆ ได้นำไปใช้และประสบผลสำเร็จ ณ โรงแรมรอยัล เบญจา ถนนสุขุมวิท
![]() |
![]() |
การประชุมดังกล่าว ถือเป็นเวทีที่ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตลอดจนนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย และสถาบันต่างๆ จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ TQM หรือการทำให้ภายในองค์กรมีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การนำเสนอบทความในครั้งนี้ คณะฯ ได้แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำระบบการวางแผนงบประมาณประจำปี เพื่อความเป็นเลิศขององค์กร การปรับปรุงกระบวนงานเพื่อลดระยะเวลาการทำงานลดข้อผิดพลาดของกระบวนงาน และเพิ่มความพึงพอใจของผู้รับบริการ และท้ายสุด คณะฯ สามารถจัดทำฐานข้อมูลโครงการต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยสามารถเสนอโครงการตามนโยบายเร่งด่วนได้ เพื่อเสนอของบประมาณได้อย่างรวดเร็วทันเวลาและขณะปัจจุบันกำลังพัฒนาข้อมูลประกอบสำหรับการวางแผนต่างๆ ด้วยการวางแผน/ประมาณการ ตามแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุดในการนำสู่เป้าหมาย สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อความอยู่รอดและความก้าวหน้าของคณะฯ ในอนาคต ปัจจุบัน คณะฯยึดหลักการวางแผนแบบ Top – Down Planning ควบคู่กับการวางแผนงบประมาณแบบ Bottom – Up Planning จากกระบวนการทำงานต่างๆได้มีการพัฒนาให้ความรู้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประสานงานด้านงบประมาณ มีการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนร่วม (Stakeholders) ทุกกลุ่มทั้งภายในและภายนอกคณะฯ มีประเมินผลกระบวนการ After Action Review (AAR) พร้อมทั้งกระบวนการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง (Continuous Quality Improvement) เกิดจนเกิดเป็นกลุ่ม CoP รวมพลคนวางแผนและประเมินผล สำหรับเจ้าหน้าที่ด้านการวางแผนงบประมาณของแต่ละภาควิชา/หน่วยงาน