ศิริราชได้รับรางวัล TQM-Best Practices in Thailand

                 
 
        คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลผลงานที่เป็นแบบอย่างที่ดี TQM-Best PracticesinThailand จากการนำเสนอบทความ เรื่อง “ระบบการติดตามและประเมินผลด้านงบประมาณ อย่างบูรณาการเพื่อความยั่งยืน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล”จากมูลนิธิส่งเสริมทีคิวเอ็มในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ผศ.นพ.อนุวัฒน์ สุตัณฑวิบูลย์ รองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน เป็นผู้แทนคณะฯ นำเสนอบทความ และรับโล่รางวัลจาก ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชลกรรมการจัดการประชุม ในงานประชุม THAILAND QUALITY CONFERENCE & The 17th Symposium on TQM-Best Practices in Thailand ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการเพื่อให้ความรู้และแนวทางระบบการจัดการของ TQM ที่องค์กรต่างๆ ได้นำไปใช้และประสบผลสำเร็จ ณ โรงแรมรอยัล เบญจา ถนนสุขุมวิท 

        การประชุมดังกล่าว ถือเป็นเวทีที่ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตลอดจนนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย และสถาบันต่างๆ จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ TQM หรือการทำให้ภายในองค์กรมีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

        การนำเสนอบทความในครั้งนี้ คณะฯ ได้แสดงให้เห็นถึงการติดตามและประเมินผลแบบมีส่วนร่วม โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการวางแผน การติดตามประเมินผล การรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะฯ ในทุกๆ พันธกิจ โดยมีการพัฒนาระบบสารสนเทศควบคู่กับการพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการติดตามและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การนำระบบสารสนเทศมาใช้ในระดับปฏิบัติการ (Operation System) ด้วยระบบ SAP/ECC6 เชื่อมโยงกับการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในกระบวนการวางแผนและติดตามผลด้วยระบบ BI-BPS ไปจนถึงการพัฒนารายงาน (BI) และจัดส่งรายงานผ่านระบบสารสนเทศ ส่งผลให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงบประมาณ การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานที่เป็นระบบและสอดคล้องกันทั้งในระดับหน่วยงานส่วนกลางสายสนับสนุน (Back Office) ที่รับผิดชอบตั้งแต่การวางแผนงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่าย การจัดทำรายงานผลด้านต่างๆ และในขณะเดียวกันก็เกิดการเรียนรู้ในกระบวนการของหน่วยงานผู้ใช้งบประมาณ คือ ภาควิชาและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหมดภายในคณะฯ  โดยเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันผ่านกลุ่ม CoP รวมพลคนวางแผนและประเมินผล รวมทั้งเป็นต้นแบบสำหรับการติดตามและประเมินผล เพื่อการศึกษาดูงานให้กับส่วนราชการและหน่วยงานภายนอกอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน