อ.นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ และคณะ คว้ารางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี บราวน์”50
จากผลงาน “เครือข่ายงานวิจัยโรคไข้เลือดออกและไวรัสไข้เลือดออก”

อ.นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ และคณะ คว้ารางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี บราวน์”50

จากผลงาน “เครือข่ายงานวิจัยโรคไข้เลือดออกและไวรัสไข้เลือดออก”

 

เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๐ ณ ห้องบอลรูม โรงแรมสุโขทัย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ นายแพทย์ตะวัน จิตต์จุฬานนท์ ผู้จัดการ บริษัท บี บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นประธานแถลงข่าวประกาศผลรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล – บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ประจำปี ๒๕๕๐ โดยขอแสดงความยินดีกับ อาจารย์นายแพทย์ปรีดา มาลาสิทธิ์ และคณะที่ได้รับรางวัลดังกล่าว จากผลงาน “เครือข่ายงานวิจัยโรคไข้เลือดออกและไวรัสไข้เลือดออก” และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงวันดี วราวิทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จากผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้รับ เงินรางวัล โล่เกียรติยศ และประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ  พร้อมเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

            สำหรับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี บราวน์ เป็นรางวัลที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับบริษัท บี บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย  โดยมุ่งส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรที่อุทิศตนและสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์และการสาธารณสุข

ด้านเครือข่ายงานวิจัยโรคไข้เลือดออกและไวรัสไข้เลือดออก (Network of Biomedical Research in Dengue Hemorrhagic Fever and Dengue Viruses) ประกอบด้วยหน่วยอณูชีววิทยาการแพทย์ สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (ในอดีต อ.นพ. ปรีดา มาลาสิทธิ์ เป็นหัวหน้าหน่วยฯ ปัจจุบันมี ศ.ดร.เพทาย เย็นจิตโสมนัส เป็นหัวหน้าหน่วยฯ) และหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งมี อ.นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ เป็นผู้อำนวยการหน่วยฯ และมีเครือข่ายความร่วมมือกับ หน่วยปฏิบัติการวิจัยของภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ และภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมี รศ.นพ.นพพร สิทธิสมบัติ และ รศ.ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ เป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัย ตามลำดับ

วัตถุประสงค์หลักของเครือข่าย คือ การทำวิจัยพื้นฐานทางชีวภาพการแพทย์ (Bio-Medical Research) พัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อนำความรู้ไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัย รักษาและป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยเชื่อมโยงกับการวิจัยทางด้านคลินิก ณ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นและสงขลา คณะผู้วิจัยได้ทำงานวิจัยในรูปแบบของเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ โดยได้ส่งนักวิจัยและนักศึกษาไปปฏิบัติงานกับเครือข่ายสถาบันวิจัยในต่างประเทศ ทั้งอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส และ ญี่ปุ่นโดยงานวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ด้านได้แก่ 1. การศึกษากลไกที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก 2. การจัดเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ (specimen) ของผู้ป่วยไข้เลือดออก 3. การวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับไวรัสเด็งกี่เพื่อพัฒนาวัคซีนตัวเลือก (Candidate vaccine) 4. การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก