ศิริราชจับมือบริษัท Varian: a Siemens Healthineers Company สร้างคอร์ส 3D-image guided adaptive brachytherapy ยกระดับมาตรฐานการรักษามะเร็งด้วยรังสีรักษาระยะใกล้ระดับประเทศและภูมิภาค
วันที่ 8 ธันวา คม 2566 เวลา 08.30 น. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท Varian: a Siemens Healthineers Company ในข้อตกลง Brachytherapy Clinical School สำหรับจัดคอร์สการเรียนการสอนรังสีรักษาระยะใกล้แบบสามมิติด้วยภาพนำวิถี หรือ 3D-image guided adaptive brachytherapy เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาทักษะของบุคลากรทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันได้แก่ แพทย์ นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีเทคนิค และพยาบาล ยกระดับมาตรฐานการรักษามะเร็งด้วยรังสีรักษาระยะใกล้ให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีการนำเทคโนโลยีรังสีรักษาระยะใกล้แบบสามมิติด้วยภาพนำวิถีให้บริการผ่านศูนย์รังสีรักษาระยะใกล้อีกด้วย โดยการลงนามครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช ร่วมลงนาม พร้อมด้วย รศ. นพ.ตรงธรรม ทองดี หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา รศ. นพ.พิทยา ด่านกุลชัย หัวหน้าสาขาวิชารังสีรักษา คุณชัชชฎา วงค์กระจ่าง Country Manager, Thailand, Myanmar & Cambodia Varian และ Samantha Bailey Sr Mgr, Marketing, Stakeholder Development & Digital Engagement Varian ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมพิณพากย์พิทยาเภท ตึก 72 ปี ชั้น 1 รพ.ศิริราช
นอกจากนี้ เวลา 09.00 น. ศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช เป็นประธานเปิด “ศูนย์รังสีรักษาระยะใกล้” (Siriraj Brachytherapy Center) ณ ตึก 72 ปี ชั้น 6 รพ.ศิริราช โดยศูนย์รังสีรักษาระยะใกล้ดำเนินงานภายใต้สาขาวิชารังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มุ่งเน้นด้านการให้บริการรังสีรักษาระยะใกล้แบบสามมิติด้วยภาพนำวิถี ซึ่งเป็นเทคนิคขั้นสูงทางการแพทย์ เทคนิคดังกล่าวเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา จนปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับบริการมากกว่า 400 รายต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชและมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ ศูนย์รังสีรักษาระยะใกล้ยังเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาด้วยเทคนิครังสีรักษาระยะใกล้แบบสามมิติด้วยภาพนำวิถีจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ
การร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กับบริษัท Varian: a Siemens Healthineers Company ครั้งนี้ นำมาสู่การเพิ่มศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ในการใช้เทคนิครังสีรักษาระยะใกล้แบบสามมิติด้วยภาพนำวิถี ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยังคงรอคอยการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง