ศิริราชร่วมงานจัดแสดงผลงานวิจัยด้านกลิ่นรส พร้อมนำเสนอนวัตกรรมชุดอุปกรณ์สำหรับทดสอบการรับกลิ่น (Olfactory Test Kit )

        เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 ณ Creative and Innovative Centre บริษัทเค เอช โรเบิร์ต (ประเทศไทย) จำกัด อาคารอมรภูมิรัตน์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ รศ.นพ.ภาวิน เกษกุล ท่านหัวหน้าภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้ร่วมงานจัดแสดงผลงานวิจัยด้านกลิ่นรส พร้อมนำเสนอนวัตกรรมชุดอุปกรณ์สำหรับทดสอบการรับกลิ่น (Olfactory Test Kit ) เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาความผิดปกติในการรับกลิ่น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โดย รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน อ. นพ.ไตรภูมิ สุวรรณเวช อ. พญ.นวรัตน์ เกษมสุข คุณบรรณพัชร์ ปิ่นแก้ว และคุณธราธรรม พลมณี ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ  คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล โดย รศ.ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ·คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ โดย รศ.ดร.เยาวภา หล่อเจริญผล และ ผศ.ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี และบริษัทเค เอช โรเบิร์ต (ประเทศไทย) จำกัด)
        หลังจากได้ร่วมประชุมคณะทำงานเพื่อเตรียมปิดโครงการวิจัย เรื่อง “การผลผลิตสารให้กลิ่นสำหรับชุดทดสอบสมรรถภาพการับกลิ่น (ระยะ 1)” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข.(หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค.2566 เวลา 13.00-16.00 น. ณ Creative and Innovative Centre บริษัทเค เอช โรเบิร์ต (ประเทศไทย) จำกัด อาคารอมรภูมิรัตน์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีผู้บริหาร ท่านผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อาจารย์ ดร.ปรีมน ปุญณกิติเกษม ร่วมประชุมกับคณะผู้วิจัยจากทั้ง 2 สถาบันและ และทีมทำงานจากบริษัท เค เอช โรเบิร์ตส์  
        คลินิกการรับกลิ่นและรส ภาควิชาโสตนาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นคลินิกแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และเปิดให้บริการทดสอบการรับกลิ่น ตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการรับกลิ่น นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปี โดยสาเหตุหลักเกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน และโรคจมูกและไซนัส และอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ หรือไม่ทราบสาเหตุ
        ปัจจุบันได้พัฒนาชุดทดสอบแบบแรก ได้แก่ ชุดทดสอบการรับกลิ่นแบบระบุชนิดของสารให้กลิ่น (Olfactory Identification Test Kit) เสร็จแล้ว และยังคงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อผลิตชุดทดสอบออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากเกี่ยวกับความต้องการใช้งานชุดทดสอบดังกล่าว จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโรค หู คอ จมูก โดยเฉพาะตามโรงเรียนแพทย์หลายแห่งในประเทศไทย รวมทั้งสถานพยาบาลต่างๆ 
        ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ ทางคณะผู้วิจัยและทีมทำงานจึงอยู่ระหว่างการผลักดันและเร่งพัฒนาชุดทดสอบอื่นๆ ได้แก่ ชุดทดสอบเพื่อระดับความผิดปกติในการรับกลิ่น (Olfactory Detection Threshold Test Kit) และชุดทดสอบการแยกแยะกลิ่น (Olfactory Discrimination Test kit)  และชุดอุปกรณ์เพื่อการรักษา ได้แก่ ชุดฝึกดมกลิ่น (Olfactory Training Kit) สำหรับคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่แตกต่างกันมากนัก