ทีมนักวิจัยศิริราช ร่วมศึกษาวิจัย MOUทางวิชาการ เรื่อง การดำเนินงานโครงการวิจัยทางคลินิก เภสัชจลนศาสตร์ และเภสัชพันธุศาสตร์ของยา Deferasirox
วันนี้ (19 มกราคม 2566) ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เเละผู้บริหาร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ทางวิชาการ เรื่อง การดำเนินงานโครงการวิจัยทางคลินิก เภสัชจลนศาสตร์ และเภสัชพันธุศาสตร์ของยา Deferasirox ร่วมกับ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อศึกษาประสิทธิผล ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่มีภาวะเหล็กเกินที่ได้รับยา Deferasirox GPO ของ อภ. และศึกษาปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางคลินิกที่มีความสัมพันธ์กับการตอบสนองต่อยา Deferasirox GPO และ/หรือระดับยาในพลาสมา รวมถึงศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของยา Deferasirox GPO และพัฒนาแบบจำลองทางเภสัชจลนศาสตร์เชิงสรีรวิทยา สำหรับทำนายระดับยาในเลือดของผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดพึ่งพาเลือดที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางคลินิกที่แตกต่างกัน?
โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย จากงานวิจัยของทีมวิจัยศูนย์ธาลัสซีเมีย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พบว่า ประชากรชาวไทยมากกว่าครึ่งมีพันธุกรรมแฝงของโรคดังกล่าว จึงประมาณการว่า มีคนไทยไม่น้อยกว่า 700,000 คน ที่ป่วยด้วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หนึ่งในปัญหาภาวะแทรกซ้อนสำคัญ ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของผู้ป่วย โรคดังกล่าว คือ ภาวะธาตุเหล็กเกิน ธาตุเหล็กที่สะสมอยู่ในร่างกายผู้ป่วยจะเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะภายในต่างๆ ตามมา เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมน ภาวะเหล็กสะสมในตับและหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะตับแข็ง ตับวาย และหัวใจล้มเหลวในที่สุด จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ อภ. ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาขับเหล็กชนิดใหม่ Deferasirox ซึ่งเป็นยาขับเหล็กที่ได้รับการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางในต่างประเทศว่ามีประสิทธิภาพดีในการลดปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายผู้ป่วย ที่มีภาวะเหล็กเกิน ทั้งจากโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียและโรคทางโลหิตวิทยาอื่นๆ
ความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ทีมวิจัยของ ศ. ดร. นพ. วิปร วิประกษิต และคณะ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นผู้ดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยทางคลินิก เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาขับเหล็กดังกล่าว โดยได้รับความ ร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณะผู้วิจัยร่วม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังจะได้มีการศึกษาวิจัยในเชิงลึกถึงข้อมูลจีโนมของ ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ถึงโอกาสในการตอบสนองต่อยาและโอกาสในการเกิดการแพ้ยา เพื่อประโยชน์ในการสร้างฐานข้อมูล เภสัชพันธุศาสตร์ของยาขับเหล็กเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โครงการดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. องค์ความรู้ทางจีโนมิกส์ การแพทย์ที่ได้จากโครงการดังกล่าว เป็นประโยชน์ไม่เฉพาะแต่ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเท่านั้น แต่จะเกิดประโยชน์ให้กับประเทศไทยในฐานะของการสร้างฐานข้อมูลทางพันธุกรรมของโรคทางโลหิตวิทยาอีกด้วย รวมเป็นงบประมาณของโครงการทั้งหมด ประมาณ 30 ล้านบาท