ครม. อนุมัติแล้ว “อาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช” สถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพแห่งแรกของประเทศไทย

          เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติ “โครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช” ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ 2566-2569 ด้วยวงเงิน 3.8 พันล้านบาท บนเนื้อที่ 4.67 ไร่

          โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย สำหรับบริเวณโรงพยาบาลศิริราชนับเป็นจุดสำคัญของการเชื่อมต่อเส้นทางระบบรถไฟฟ้า 2 สถานี ได้แก่ สถานีศิริราช (รถไฟฟ้าสายสีส้ม ดำเนินการโดย รฟม.) และสถานีธนบุรี-ศิริราช (รถฟ้าสายสีแดงอ่อน ดำเนินการโดย รฟท.) ซึ่งได้ออกแบบให้สามารถใช้สถานีร่วมกันเพื่อประโยชน์ในการเดินทางและการรักษาพยาบาลเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ารับบริการในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้สะดวกและรวดเร็ว ทั้งยังลดความแออัดของผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลได้ ทั้งนี้ นอกจากมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนด้านสาธารณสุขแล้ว ยังเป็นอาคารที่ออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 

          สำหรับอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราชนั้น เป็นอาคารสูง 15 ชั้น ออกแบบให้เป็น Smart Hospital ด้วยเครือข่าย 5G ประกอบด้วย งานบริการผู้ป่วยนอกและงานบริการผู้ป่วยใน ที่เน้นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ อาทิ ศูนย์ตรวจสุขภาพ คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพ คลินิกผิวหนัง การบริการผู้ป่วยด้านอายุรกรรม ผู้ป่วยหลังผ่าตัด นอกจากนี้ยังมีการให้บริการในรูปแบบของ Ambulatory Unit/ One Day Surgery ที่สามารถเข้ารับบริการแล้วกลับบ้านได้โดยไม่ต้องพักค้างคืน รวมไปถึงห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ เช่น การเจาะเลือด ในส่วนของการบริการรถไฟฟ้ามีการออกแบบตัวสถานีและพื้นที่ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น เชื่อมต่อกับอาคารรักษาพยาบาล โดยสายสีส้มเชื่อมต่อไปยังอาคาร และพื้นที่ชั้นพื้นดินเป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีแดง ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569