ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเยือนศิริราชพร้อมแสดงปาฐกถาในผลงานที่ได้รับรางวัลอันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
วันที่ 29 มกราคม 2563 เวลา 09.30 น. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยผู้บริหารคณะฯ ให้การต้อนรับ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 สาขาการแพทย์ ศาสตราจารย์ ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ (Professor Dr.Ralf F.W. Bartenschlager) จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาขาการสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นายแพทย์เดวิด เมบี (Professor David Mabey) จากสหราชอาณาจักร ในโอกาสมาเยือนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะหน่วยงานที่ริเริ่มรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับผลงานที่ได้รับรางวัล ณ รพ.ศิริราช
เวลา 09.30 น. ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 เดินทางมาถึงโรงพยาบาล ศิริราช ได้ไปถวายบังคมพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตลอดจนถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นเวลา 09.45 น. เยี่ยมชมห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 ซึ่งภายในห้องได้รวบรวมเรื่องราวพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และสิ่งของส่วนพระองค์ที่หาชมได้ยาก
ถัดมาเวลา 10.45 น. ช่วงพบสื่อมวลชน (Meet the Press) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวต้อนรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 และเกริ่นนำในผลงานของผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ จากนั้น ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ และ ศ.นพ.เดวิด เมบี ได้กล่าวถึง ผลงานที่ได้อุทิศตน ทุ่มเทเวลาศึกษาวิจัย อันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ความรู้สึกที่ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ตลอดจนข้อคิดเห็นที่จะนำมาต่อยอด หรือเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทย อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจแก่แพทย์รุ่นหลังได้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อไป ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2
ต่อจากนั้น รศ.นพ.ประภัทร วานิชพงพันธ์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์เป็นผู้ดำเนินการรายสัมภาษณ์ ผู้รับรางวัลทั้ง 2 ท่านในประเด็นคำถามเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการทำงาน ปัญหาและอุปสรรคที่พบ แผนการในอนาคต ตลอดจน คำแนะนำสำหรับบุคลากรด้านการแพทย์และการวิจัย โดยมีใจความโดยสรุปดังนี้
ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ หัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อ อณูไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก และหัวหน้าหน่วยไวรัสที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งเยอรมนี ท่านเป็นผู้ศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของไวรัสตับอีกเสบซี ซึ่งโรคนี้จะนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับที่เป็นอันตรายถึงชีวิต จนนำไปสู่การพัฒนายารักษาผู้ป่วยให้หายขาดจากโรคไกวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง ทำให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายล้านคนทั่วโลก ทั้งนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยที่ตอดเชื้อไวรัสตับอีกเสบซีแบบเรื้องรังมากกว่า 71 ล้านคน
ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ มีความสนใจการศึกษาด้านไวรัสและระบาดวิทยามาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งที่มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กที่ท่านศึกษานั้นมีสาขาวิชาด้านไวรัสวิทยาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในช่วงต้นของชีวิตการทำงาน ศ.ดร.บาร์เทนชลากเกอร์ อยู่ในสายงานวิจัยเกี่ยวข้องกับการผลิตยา เนื่องจากทำวิจัยให้กับทางบริษัทยาแห่งหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อค้นพบว่าตนเองมีความสนใจในด้านระบาดวิทยา จึงได้หักเห มาทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องไวรัสตับอีกเสบ ซี
สำหรับประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการทำงานนั้น ศ.ดร.บาร์เทนชลากเกอร์ ได้กล่าวว่า ตลอดช่วงเวลาการศึกษาวิจัยฯ ตลอด 7-8 ปีนั้น เป็นช่วงเวลาการทำงานที่หนัก และไม่ได้ผลลัพท์ดังที่ต้องการ อีกทั้งต้องพบกับความล้มเหลวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นเรื่องที่ยากลำบากที่สุดกลับเป็นเรื่องการพยายามรักษาความเชื่อมั่นและกำลังใจในการทำงานของตนและของผู้ร่วมงานในทีมเอาไว้ เพราะการพบความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องนั้น พร้อมจะทำให้ทุกคนถอดใจได้โดยง่าย
ศาสตราจารย์บาร์เทนชลากเกอร์และคณะ ได้ค้นพบวิธีเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสนี้ในเซลล์เพาะเลี้ยง และสร้างแบบจำลองชิ้นส่วนกพันธุกรรมของไวรัสได้ ทำให้เปิดโอกาสในการค้นหาสารจำนวนมากที่สามารถเป็นยาต้านไวรัสชนิดนี้ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังค้นพบชิ้นส่วนของโปรตีนที่ไม่มีโครงสร้าง (เอนเอส 3) ซึ่งสร้างเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัส และพบว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของยาที่สามารถต้านเชื้อนี้ได้ ผลการศึกษานี้ นำไปสู่การพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบซีรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า ดีเอเอ (DAA : direct acting antiviral) ที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง ให้หายได้ถึงร้อยละ ๙๕ โดยมีผลข้างเคียงน้อยลง ทั้งนี้ ยาดังกล่าวยังมาราคาที่สูงมาก ดังนั้น สำหรับแผนการต่อไปในอนาคต ท่านมองเห็นว่า สิ่งทีเป็นความท้าทายในขั้นต่อไป คือ เรื่องของการกระจายยาให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีความต้องการได้อย่างทั่วถึง
ในส่วนของคำแนะนำสำหรับบุคคลากรด้านการแพทย์และการวิจัยที่ ศ.ดร.บาร์เทนชลากเกอร์ ได้ฝากไว้ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์นั้น ท่านได้กล่าวว่า องค์ประกอบที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในการทำงานดังที่ท่านได้รับนั้น ประกอบด้วย 1) แรงบันดาลใจที่ถูกต้องเหมาะสมและควรค่ากับเวลาและพลังงานที่เราต้องทุ่มเทลงไป 2) การมีที่ปรึกษาที่ดี 3) การเลือกสภาวะแวดล้อมที่สอดคล้องกับเป้าหมายของตนเอง ตลอดจน 4) การสนับสนุนและการให้ความเข้าอกเข้าใจจากครอบครัว ศ.นพ.เดวิด เมบี ศาสตราจารย์สาขาโรคติดต่อ และภาควิชาวิจัยคลินิก วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน โดยท่านเป็นผู้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงตา มากว่า ๓๐ ปี โรคริดสีดวงตาเป็นการติดเชื้อของตาที่ทำให้ตาบอดได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามิเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ซึ่งทำให้ตาบอดหรือเกิดความพิการทางสายตาได้มากถึงปีละ ๑.๙ ล้านคนทั่วโลก การติดเชื้อแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากตาหรือจมูกของผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีสุขอนามัยไม่ดี ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และไม่มีแหล่งน้ำสะอาดที่เข้าถึงได้เพียงพอ
ศ.นพ.เดวิด เมบี เกิดที่แอฟริกาตะวันตก และในวัยเด็กเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในอังกฤษ จนกระทั้งสำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์ และเดินทางไปรับตำแหน่งแพทย์ประจำโรงพยาบาลขนาดเล็ก (40เตียง) ที่ประเทศแกมเบีย ในทวีปแอฟริกาเป็นเวลา 8 ปี ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมีความคุ้นเคยและให้ความสนใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าวซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ของประชากรในพื้นที่นั้น ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับโรคดังกล่าวกลับมีอยู่จำนวนน้อยมาก
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เมบีและคณะ ได้ศึกษาในพื้นที่ของประเทศแกมเบีย และได้ค้นพบว่าการตาบอดจากโรคริดสีดวงตาเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกายต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย และต่อมา ได้ค้นพบว่า การให้ยาเอซิโทรมัยซิน (azithromycin) เพียง 1 ครั้งสามารถรักษาโรคริดสีดวงตาอย่างได้ผล จึงได้มีการศึกษาแบบพหุสถาบัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการให้ยาดังกล่าวในชุมชนแบบประจำปี สามารถลดการแพร่กระจายของโรคนี้ได้ ดังนั้นจึงค้นพบว่าการให้ยาเอซิโทรมัยซิน แบบครอบคลุมประชากรจำนวนมาก สามารถช่วยกำจัดโรคนี้ให้หมดไปได้ในถิ่นที่เป็นแหล่งระบาดของโรค
ผลงานวิจัยนี้นำไปสู่นโยบายขององค์การอนามัยโลก ที่จะกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปด้วยโปรแกรมเซฟ (SAFE) ประกอบด้วย การควบคุมโรคโดยการผ่าตัด (surgery), การรักษาแบบครอบคลุมด้วยยาปฏิชีวนะ (antibiotic), ส่งเสริมการล้างหน้า (face washing) และ การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย (environment)
สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินของศ.นพ.เมบี และคณะทำงานนั้น เห็นว่า ในช่วงแรกเริ่มของการทำงานเรื่องของการหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน เนื่องจากโรคริดสีดวงตานั้น นับได้ว่าเป็นโรคที่มักถูกละเลยและไม่อยู่ในความสนใจของแหล่งสนับสนุนเงินทุนเท่าที่ควร
ในส่วนของคำแนะนำสำหรับบุคคลากรด้านการแพทย์และการวิจัยที่ ศ.นพ.เมบี ได้ฝากไว้ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์นั้น ท่านได้กล่าวว่า องค์ประกอบที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในการทำงานดังที่ท่านได้รับนั้น ประกอบด้วย การมีที่ปรึกษา (Mentor) ที่ดี การพบสิ่งที่ตนเองรู้สึกสนใจอย่างแท้จริง และที่ส่วนที่ยากและสำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง คือ การหาแหล่งเงินทุนที่พร้อมให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
จากนั้นเวลา 11.45 น. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแด่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 ทั้ง 2 ท่าน ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 2
สำหรับภาคบ่าย เวลา 13.30 น. ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ แสดงปาฐกถาในผลงานที่ได้รับรางวัล เรื่อง “Hepatitis C virus elimination: Achievements and Challenges” โดย ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ และเรื่อง “Towards the Elimination of Blinding Trachoma” โดย ศ.นพ.เดวิด เมบี โดยมี คณาจารย์ แพทย์ นักศึกษา บุคลากรทางการแพทย์และผู้สนใจร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น G
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง